การออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน: การทบทวนงานวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ

Authors

  • จุฑามาศ กิติศรี
  • พิกุล นันทชัยพันธ์
  • ฉวีวรรณ ธงชัย

Abstract

การขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณขาเป็นอาการที่พบได้บ่อยในโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน โดยพบการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณขาส่วนล่างที่เกิดจากการเดินและจะทุเลาลงเมื่อได้พักการออกกำลังกายช่วยให้อาการขาดเลือดไปเลี้ยงและทำให้ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายดีขึ้น จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบครั้งนี้คือ เพื่อรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่เกี่ยวกับการออกกำลังกายในผู้ป่วยเหล่านี้ โดยทำการสืบค้นรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ถึง 2551 จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ คัดเลือกเฉพาะรายงานการวิจัยเชิงทดลองที่มีการออกแบบโดยมีกลุ่มควบคุมและมีการสุ่มตัวอย่างเข้ารับการทดลองและการวิจัยกึ่งทดลองที่ศึกษาผลของการออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ทำการประเมินคุณค่างานวิจัยและสกัดข้อมูลโดยผู้ทบทวนสองคนซึ่งทำอย่างเป็นอิสระจากกัน วิเคราะห์จำแนกรูปแบบการออกกำลังกายและผลลัพธ์ที่ได้โดยใช้การวิเคราะห์สรุปเชิงเนื้อหา ส่วนผลลัพธ์ของการออกกำลังกายที่มีการแสดงไว้ในรูปของข้อมูลทางสถิติที่เพียงพอ ใช้การวิเคราะห์เมตาด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณค่าขนาดอิทธิพล (ค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยรวม: WMD) และช่วงความเชื่อมั่นที่ 95%

ผลการทบทวนพบงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์จำนวน 40 เรื่องพบว่ามีการศึกษาการออกกำลังกายรวม 3 รูปแบบคือ 1) รูปแบบการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้านโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกาย (9 เรื่อง) 2) รูปแบบการออกกำลังกายโดยการใช้อุปกรณ์สายพานเลื่อนที่มีผู้แนะนำขณะฝึก (24 เรื่อง) และ 3) รูปแบบการออกกำลังกายที่ใช้หลายวิธีร่วมกัน (14 เรื่อง)

ประสิทธิผลของการออกกำลังกาย พบว่า การออกกำลังกายทุกรูปแบบให้ผลต่อการเพิ่มความทนในการเดินที่ประเมินโดยระยะทางและ/หรือเวลาในการเดินก่อนจะเริ่มมีอาการปวด มีเฉพาะรูปแบบการออกกำลังกายที่ใช้หลายวิธีร่วมกันเท่านั้นที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายและคุณภาพชีวิตซึ่งพบจากรายงานวิจัยเพียง 2 เรื่องเท่านั้น สำหรับผลต่อการเพิ่มขึ้นของดัชนีบ่งบอกความรุนแรงของการขาดเลือดบริเวณข้อเท้าอย่างมีนัยสำคัญไม่สามารถยืนยันได้จากการศึกษาที่นำมาทบทวนในครั้งนี้

โปรแกรมการออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์โดยมีผู้ฝึก และออกกำลังกายโดยไม่มีอุปกรณ์ด้วยตนเองที่บ้าน สามารถนำมาใช้เป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยบรรเทาอาการขาดเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายของขาและเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน โดยที่สามารถใช้อย่างมีประสิทธิผลทั้งรูปแบบที่ใช้วิธีการเดียวและใช้หลายวิธีร่วมกัน

คำสำคัญ: การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ การออกกำลังกาย โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

Downloads

Published

2012-09-14

How to Cite

1.
กิติศรี จ, นันทชัยพันธ์ พ, ธงชัย ฉ. การออกกำลังกายในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน: การทบทวนงานวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Sep. 14 [cited 2024 Mar. 29];26(4):17. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2733