ความตรงเชิงพยากรณ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ และคะแนนสอบคัดเลือก กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๑ โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Authors

  • พิศิษฐ วัฒนเรืองโกวิท ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • บงกช เอี่ยมชื่น งานบริการการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • กาญจนา จำแนกทาน งานบริการการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Keywords:

ความตรงเชิงพยากรณ์, คะแนนสอบคัดเลือก, ผลสัมฤทธิ์, โครงการรับตรง

Abstract

บทนำ: การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ ระหว่างนักศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทกับโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง
คะแนนสอบคัดเลือกเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ รวมทั้งศึกษาความตรงเชิงพยากรณ์ของคะแนนสอบคัดเลือกเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑
วิธีการศึกษา: ศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากเอกสาร ได้แก่ ๑) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ๒) คะแนนสอบคัดเลือกในคณะแพทยศาสตร์ จำนวน ๕ วิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และ
ภาษาอังกฤษ ๓) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ ของนักศึกษาแพทย์จำนวน ๓๐๖ คน โครงการรับตรงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ - ๒๕๕๖ นำข้อมูลที่บันทึกมาคำนวณค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่าง ๒ โครงการโดยใช้สถิติ t-test วิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ โดยวิธีหาสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และสร้างสมการพยากรณ์โดยวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ
ผลการศึกษา: ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ ของนักศึกษาแพทย์ โครงการรับตรงทั้ง ๒ โครงการ คะแนนสอบคัดเลือกเข้าศึกษา เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ กับผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๑ ยกเว้นคะแนนสอบคัดเลือกวิชาคณิตศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ และตัวแปรพยากรณ์ที่ร่วมกันทำนาย
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นปีที่ ๑ ได้ดีที่สุด ได้แก่ เกรดเฉลี่ยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ คะแนนสอบคัดเลือกเข้าศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และเคมี
วิจารณ์ และ สรุปผลการศึกษา: กระบวนการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรให้ความสำคัญและให้นำ้หนักกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ คะแนนสอบคัดเลือกวิชาภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และเคมี รวมทั้งควรศึกษาความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนชั้นพรีคลินิกและชั้นคลินิก

Downloads

Published

2015-09-30

Issue

Section

Original Articles