ความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาบูรณาการอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Keywords:
ความพึงพอใจ, นักศึกษาแพทย์, การจัดการเรียนการสอน, บูรณาการอายุรศาสตร์Abstract
บทนำ: รายงานการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาบูรณาการอายุรศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
เปรียบเทียบปัจจัยความแตกต่างด้านต่างๆ ที่มีผลต่อความพึงพอใจ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและเน้นให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา
หลักสูตรอย่างแท้จริง
วิธีการศึกษา: เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ จำนวน ๑๘๔ คน ทั้งเพศหญิงและเพศชาย อายุระหว่าง ๒๐ - ๒๔ ปี จาก ๕ โครงการร ับเข้าศึกษา และ ๔ สถานที่ฝึกปฏิบัติงาน โดยใช้
แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานการวิจัย ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลการทดสอบที (t-test)
โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ p = ๐.๐๕ ทดสอบความแตกต่างระหว่าง ๒ กลุ่ม คือ เพศชายกับเพศหญิง ส่วนอายุ โครงการรับเข้าศึกษา และสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน วิเคราะห์โดยใช้ F-test (One-way ANOVA) ถ้าแตกต่าง
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ๐.๐๕ จะเปรียบเทียบตามวิธีของ Least significant difference (LSD)
ผลการศึกษา: รายงานวิจัยพบว่า ระดับความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก โดยมีความพึงพอใจด้านผู้สอนมากที่สุด เมื่อทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบความพึงพอใจจำแนกตามเพศ อายุ โครงการรับเข้าศึกษา
และสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน พบว่า ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้ความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาบูรณาการอายุรศาสตร์แตกต่างกัน สิ่งที่แตกต่างกันคือสถานที่ฝึกปฏิบัติงานเท่านั้น ซึ่งอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้างในเรื่องของสถานที่ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมในการปฏิบัติงาน หรือผู้ป่วย และจะมีเพียงบางประเด็น อาทิ ปัจจัยส่งเสริมการเรียนการสอนเท่านั้นที่อาจแตกต่างกันตามแต่ละสถานที่
วิจารณ์ และ สรุปผลการศึกษา: จากผลการศึกษาสรุปได้ว่าความพึงพอใจของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาบูรณาการอายุรศาสตร์พบว่าโดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาในแต่ละด้านพบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเช่นกัน ได้แก่ ๑. ด้านผู้สอน ๒. ด้านหลักสูตร ๓. ด้านการจัดการเรียนการสอน ๔. ด้านการวัด และประเมินผล และ ๕. ด้านปัจจัยส่งเสริมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเท่ากับ ๔.๐๐, ๓.๘๑, ๓.๖๗, ๓.๕๒ และ ๓.๕๑ ตามลำดับ ผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดการเรียนการสอนของภาควิชาอายุรศาสตร์สามารถนำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่นักศึกษาได้ให้ไว้ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับ
ความต้องการของผู้เรียน จะทำให้การจัดการเรียนการสอนของภาควิชาอายุรศาสตร์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในการจัดการเรียนการสอนหรือกำหนดหลักสูตรต่างๆ ควรมีการวางแผนอย่างมีส่วนร่วม ทั้งผู้กำหนดหลักสูตร ผู้สอนและผู้เรียน รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ความมุ่งหมาย หรือวัตถุประสงค์ของภาควิชาในการกำหนดหลักสูตรต่างๆ ให้นักศึกษาทราบและตระหนักถึงความสำคัญ จะทำให้นักศึกษาผู้ซึ่งเป็นผู้เรียนก็จะมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน และมีความสุขในการเรียนมากยิ่งขึ้น