ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมกับระยะเวลาการสกัด และการศึกษาความคงตัวของผงยาตำรับตรีผลา
Keywords:
ตรีผลา, ต้านอนุมูลอิสระ, สารประกอบฟีนอลรวม, ระยะเวลาการสกัด, การทดสอบความคงตัวAbstract
บทนำ: ตำรับยาตรีผลา ประกอบด้วยสมุนไพร ๓ ชนิด ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม อัตราส่วนที่เท่ากันในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ส่วนในคัมภีร์แพทย์
แผนไทยมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการป่วยในคิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) และลดความอ้วน แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาวิธีการควบคุมคุณภาพของผงยาตรีผลา ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระยะเวลาการแช่สกัดที่ดีที่สุดในการสกัดผงยา เพื่อนำไปใช้ทดสอบความคงตัวของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและหาปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมของผงยาตรีผลา
วิธีการศึกษา: แช่สกัดผงยาตรีผลาด้วย ๙๕% เอทานอล ในระยะเวลาต่างกัน คือ ๑, ๓, ๕, ๗, ๙ และ ๑๑ วัน หรือผงยาตรีผลาสกัดน้ำด้วยวิธีการต้มที่ระยะเวลาต่างกัน คือ ๑๕, ๓๐, ๔๕ และ ๖๐ นาที
จากนั้นนำไปคำนวณหาร้อยละปริมาณสารสกัดที่ได้ต่อน้ำหนักพืชแห้ง (%yield) ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี DPPH assay และหาปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม ด้วยวิธี Folin-Ciocalteu นอกจากนี้เก็บผงยาตรีผลาในสภาวะเร่งที่อุณหภูมิ ๔๐ ± ๒ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ ๗๕ ± ๕ เป็นเวลา ๖ เดือน แล้วสุ่มตัวอย่างในวันที่ ๐, ๑๕, ๓๐, ๖๐, ๙๐, ๑๒๐, ๑๕๐ และ ๑๘๐ วัน ตามลำดับ สกัดผงยาโดยใช้ระยะเวลาที่ดีที่สุดจากผลการศึกษาข้างต้น แล้วนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณฟีนอลรวม
ผลการศึกษา: การสกัดตรีผลาด้วย ๙๕% เอทานอล มีปริมาณสารสกัดที่ได้ต่อน้ำหนักพืชแห้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและ ปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม ปริมาณมากกว่าสารสกัดน้ำ โดยสารสกัดที่ใช้เวลาการแช่สกัดด้วยเอทานอลเป็นเวลา ๑, ๓, ๕, ๗, ๙ และ ๑๑ วัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p > ๐.๐๕) คือ EC50 อยู่ในช่วง ๓.๐๙ ± ๐.๕๙ ถึง ๔.๑๗ ± ๐.๓๘ ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สารประกอบฟีนอลรวม มีปริมาณไม่แตกต่างกันทางสถิติ (p > ๐.๐๕) มีค่าอยู่ในช่วง ๒๖๐.๒๒ ± ๓๑.๕๓ ถึง ๓๐๘.๑๐ ± ๑๐.๐๖ มิลลิกรัมแกลลิคแอซิดต่อกรัมสารสกัด ทดสอบความคงตัวทางชีวภาพและเคมีของผงยาตรีผลาพบว่า เมื่อเก็บในสภาวะเร่งไม่ทำให้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมเปลี่ยนแปลง (p > ๐.๐๕) เมื่อเทียบกับ Day 0 อย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าผงยาตรีผลาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้เป็นเวลา ๒ ปี โดยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมไม่เปลี่ยนแปลง
วิจารณ์ และ สรุปผลการศึกษา: สารสกัดตำรับตรีผลาที่ได้จากการแช่สกัดด้วยเอทานอลนาน ๓ วัน เป็นการสกัดที่ใช้เวลาสั้นที่สุดและมีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมไม่แตกต่างกับการแช่สกัดที่ระยะเวลามากขึ้น จึงเหมาะที่จะนำไปใช้สกัดเพื่อการวิเคราะห์และควบคุมมาตรฐานของผงยาตำรับตรีผลา และผงยาตรีผลามีความคงตัวสามารถเก็บไว้ได้นาน ๒ ปี โดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระคงเดิม