ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรักษาโรคเรื้อรังของหมอพื้นบ้านในจังหวัดลำพูน

Authors

  • กวิตาภัทร มงคลนำ บัณฑิตศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อรุณพร อิฐรัตน์ สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย ภาควิชาการบริหารการศึกษาพยาบาลและบริการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานคริ

Keywords:

ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, หมอพื้นบ้าน, โรคเรื้อรัง, จังหวัดลำพูน

Abstract

บทนำ: โรคเรื้อรังมีแนวโน้มอุบัติการณ์สูงขึ้น การใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยยังเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเหล่านี้ แต่ยังขาดการวิเคราะห์สาเหตุที่สำคัญของการนำการแพทย์แผนไทยมาใช้ งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเพื่อรักษาโรคเรื้อรัง
วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบภาคตัดขวาง ขนาดตัวอย่างจำนวน ๑๓๔ คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยการจับฉลากรายชื่อหมอพื้นบ้าน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และสังเกต ใช้วิธีการตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถามด้วยการหาความตรงเชิงเนื้อหา และหาค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของแบบสอบถามปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริม ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของครอนบาคซ์แอลฟ่าเท่ากับ ๐.๙๐, ๐.๗๘ และ ๐.๙๔ ตามลำดับ และแบบสอบถามการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของคูเดอร์ริชาร์ดสัน เท่ากับ ๐.๙๙
ผลการศึกษา: หมอพื้นบ้านมีการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยรักษาโรคเรื้อรัง ดังนี้ โรคหลอดเลือดสมอง (ร้อยละ ๔๓.๓) โดยสมุนไพรที่ใช้มาก ได้แก่ ไพล (ร้อยละ ๓๑.๓) โรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ ๓๑.๓) โดยสมุนไพรที่ใช้มากได้แก่ มะขามป้อม (ร้อยละ ๑๔.๙) และครอบจักรวาล (ร้อยละ ๑๔.๙) โรคเบาหวาน (ร้อยละ ๒๙.๙) โดยสมุนไพรที่ใช้มาก ได้แก่ บอระเพ็ดตัวเมีย (ร้อยละ ๑๖.๔) โรคหัวใจ (ร้อยละ ๑๗.๒) โดยสมุนไพรที่ใช้มาก ได้แก่ ใบเตย (ร้อยละ ๙.๐) โรคมะเร็ง (ร้อยละ ๒๓.๙) โดยสมุนไพรที่ใช้มาก ได้แก่ หัวข้าวเย็นเหนือ (ร้อยละ ๑๑.๙) หัวข้าวเย็นใต้ (ร้อยละ ๑๑.๙) และโรคเอดส์ (ร้อยละ ๕.๒) โดยสมุนไพรที่ใช้มาก ได้แก่ มะระขี้นก (ร้อยละ ๖.๗) ด้านวิธีการรักษาส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรร่วมกับพิธีกรรมและอาหารบำบัด โดยมีรูปแบบการปรุงยาอย่างง่าย ได้แก่ ยาต้ม ยาบดผง ยาประคบ ส่วนโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ - อัมพาต) มีการรักษาด้วยกายบำบัดร่วมด้วย เมื่อทดสอบด้วยสมการถดถอยพหุแบบโลจิสติกพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการรักษาโรคเรื้อรังของหมอพื้นบ้านในจังหวัดลำพูน คือ ความสะดวกในการใช้ยาสมุนไพร (Odds ratio = ๓.๐๑๗, 95%CI = ๑.๗๑๙ - ๕.๒๙๓)
วิจารณ์ และ สรุปผลการศึกษา: ปัจจัยความสะดวกในการใช้ยาสมุนไพรมีอิทธิพลต่อการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการรักษาโรคเรื้อรังของหมอพื้นบ้าน ดังนั้น การเพิ่มการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยควรเพิ่มความสะดวกในการใช้ยาสมุนไพรให้กับแพทย์แผนไทยเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

Downloads

Published

2015-09-30

Issue

Section

Original Articles