Announcements

จริยธรรมของการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

 

           จากการที่วารสารหมอยาไทยวิจัย เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารเพื่อส่งเสริม เผยแพร่ และสนับสนุนผลงานทางวิชาการที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพทางด้านด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์บูรณาการ ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ และสังคมภายนอก เป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์วารสารในระดับประเทศ โดยทางวารสารได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงาน ประกอบด้วย คำแนะนำและแบบฟอร์มสำหรับการส่งนิพนธ์ต้นฉบับ หนังสือรับรองการส่งบทความตีพิมพ์ แบบประเมินของผู้ประเมินบทความวิจัย และแบบสรุปการแก้ไขนิพนธ์ต้นฉบับ รวมทั้งมีรายละเอียดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Publication Ethics) เพื่อแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องได้ทราบทั่วกัน

            วารสารหมอยาไทยวิจัยจะดำเนินการประชุมเพื่อแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงหรือสัมพันธ์กับบทความวิชาการที่ส่งจำนวน 3 คน ต่อ 1 บทความ เพื่อพิจารณาคุณภาพของบทความโดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ รูปแบบการประเมินเป็นแบบ double blinded คือไม่เปิดเผยชื่อผู้นิพนธ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และไม่เปิดเผยรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิแก่ผู้นิพนธ์ เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไป อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์นานาชาติ จึงได้กำหนดจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการ ดำเนินงานของวารสาร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด ตามบทบาทหน้าที่ ดังนี้

บทบาทผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ผลงานต้องไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่นำบทความไปเสนอวารสารอื่นหากยังไม่สิ้นสุดกระบวนการในการประเมิน
  2. มีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นตามแบบฟอร์มที่วารสารกำหนดและไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่นหรือของตนเอง
  3. ได้รับความยินยอมจากผู้วิจัยร่วม (ถ้ามี)
  4. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง
  5. แนบไฟล์รับรองจริยธรรมวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองหากมีการทดลองที่เกี่ยวข้องพร้อมกับระบุเลขที่รับรองลงในเนื้อหาบทความ
  6. ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ
  7. ยอมรับผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและสามารถชี้แจงหรืออธิบายข้อเสนอแนะที่ได้รับอย่างครบถ้วน
  8. รับผิดชอบต่อผลงานที่นำส่งโดยจะต้องไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด (duplications) และไม่มีข้อมูลที่ซ้ำซ้อนที่เคยเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ (similarities) ไม่ว่าจะเป็นผลงานของตัวเองหรือของผู้อื่น

 

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความโดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพบทความ
  2. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหรือผู้ทรงคุณวุฒิ
  3. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพบทความอีกครั้งภายหลังการแก้ไขจากผู้นิพนธ์และมีสิทธิให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้นิพนธ์ได้ในทุกด้าน เช่น รูปแบบการเขียน และเนื้อหาบทความ เพื่อให้ได้บทความที่มีคุณภาพก่อนเผยแพร่
  4. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ตัดสินใจในการยอมรับหรือปฏิเสธบทความวิจัยเพื่อการตีพิมพ์ ทั้งนี้หากบทความได้รับการปฏิเสธจากผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ใน 3 ที่ทำหน้าที่ในการประเมิน บทความนั้นจะถูกปฏิเสธทันที แต่จะได้รับข้อเสนอแนะทั้งหมดจากผู้ทรงคุณวุฒิ
  5. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ดำเนินงานเพื่อให้บทความเผยแพร่ตามกำหนดเวลา
  6. หากบรรณาธิการวารสารตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ จะต้องติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจงและหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการตอบรับหรือปฏิเสธการเผยแพร่บทความจากผู้นิพนธ์

 

บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ประเมิน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญเพื่อให้ได้บทความที่มีคุณภาพและตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นอย่างแท้จริงก่อนตอบรับการประเมินบทความ
  5. หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมินเป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที