ผลของการสร้างเสริมการจัดการสุขภาพครอบครัวต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องของบุคคลที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง

ผู้แต่ง

  • Mongkhon Waree โรงพยาบาลวานรนิวาส สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร

คำสำคัญ:

การจัดการสุขภาพครอบครัว การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลองกลุ่มเดียว เพื่อศึกษาผลของการสร้างเสริมการจัดการสุขภาพครอบครัวต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องที่บ้านที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 20 ครอบครัว กลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรมการจัดการตนเองและครอบครัวตามแนวคิดของเกรย์ นาน 8 สัปดาห์ ครั้งละ 60-90 นาที ประกอบด้วย สัปดาห์ที่ 1 การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินบริบทของบุคคลและครอบครัว สัปดาห์ที่ 2-3 การประชุมครอบครัวเพื่อวิเคราะห์ผลการประเมินครอบครัว สะท้อนสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของครอบครัว สัปดาห์ที่ 4-5 การวางแผนและปฏิบัติการพยาบาลครอบครัว สัปดาห์ที่ 6-7 กำกับติดตามประเมินความต้องการ ให้การปรึกษาและแก้ไขปัญหาทางโทรศัพท์ และ สัปดาห์ที่ 8 การติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินผลลัพธ์หลังได้รับโปรแกรม  เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05  วิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบที (paired t-test)  ผลการวิจัยพบว่าหลังจากได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมการจัดการสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และสรุปภาพรวม มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05)  ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงว่าโปรแกรมการสร้างเสริมการจัดการสุขภาพครอบครัวสามารถเพิ่มการดูแลรวมกันของผู้ป่วยและครอบครัว ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  พยาบาลและทีมสุขภาพสามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมการดูแลร่วมกันของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องและครอบครัวได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-22