การพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อยโรงพยาบาลศรีสงคราม

ผู้แต่ง

  • Kromaree Pangdee 0928983862

คำสำคัญ:

การพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์, การคลอดทารกน้ำหนักน้อย

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อย โรงพยาบาลศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ดำเนินการวิจัยในเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562  มีกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 40 คน คัดเลือกกลุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยโดยวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ขั้นตอนดำเนินการวิจัย มี 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์และศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมวิจัย 10 คน ระยะที่ 2 พัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อย ระยะที่ 3 ประเมินผลการพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบคัดกรองความเสี่ยงและแบบฟอร์มการดูแลรายบุคคลของหญิงตั้งครรภ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยน้ำหนักทารกแรกเกิด หลังการพัฒนาระบบกับค่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยใช้สถิติ t-test (One Sample) ผลการวิจัยพบว่า

  1. การคัดกรองความเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อย 40 ราย ได้รับการส่งต่อทุกราย เพื่อให้การดูแลใน Low Birth Weight Unit พบความเสี่ยงในระดับ High risk factor 29 ราย ร้อยละ 72.50 และ Intermediate Risk factor 11 ราย ร้อยละ 27.50
  2. ระบบการดูแลตามแบบศรีสงครามโมเดล คือให้ความรู้รายบุคคลตามความเสี่ยงที่พบ สาธิตอาหารเสริม  ให้อาหารธาตุเหล็กสูงและให้ยาโฟลิกในกลุ่มความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำ ให้นมและไข่ ส่งพบแพทย์ 2 ครั้ง ตรวจอัลตราซาวด์ ประเมินตามแบบฟอร์มดูแลรายบุคคลในหญิงตั้งครรภ์ หลังการดูแลจนคลอด พบน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์มากกว่า 1 กิโลกรัมต่อเดือน ร้อยละ 87.50 ผลการประเมินพฤติกรรมการบริโภคในแต่ละครั้งที่มาฝากครรภ์ มีการบริโภคอาหารเพียงพอ ร้อยละ 87.50 ส่งผลให้น้ำหนักทารกแรกคลอดมากกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 95.00

                             3. ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยน้ำหนักทารกแรกเกิด หลังการพัฒนาระบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดทารกน้ำหนักน้อย พบว่า ทารกแรกเกิดมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักเท่ากับ 2,905 กรัม (SD. = 248.02) สูงกว่าค่าเกณฑ์ (2,500 กรัม) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-04-29