ประสิทธิผลของหุ่นยนต์ขนาดเล็กต่อการลดปวดในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่แร่ กัมมันตรังสี ชนิดอัตราแผ่ปริมาณรังสีสูง

ผู้แต่ง

  • ชญานิศ ชำนาญจันทร์

คำสำคัญ:

ปวด, มะเร็งปากมดลูก, ใส่แร่กัมมันตรังสี ชนิดอัตราแผ่ปริมาณรังสีสูง, หุ่นยนต์ขนาดเล็ก

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Dinsow mini robot)  ต่อการลดปวดในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่แร่กัมมันตรังสี ชนิดอัตราแผ่ปริมาณรังสีสูง ในงานผู้ป่วยนอกรังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ในช่วงเดือน  มกราคม 2562- มีนาคม  2562  โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง  คือ  ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการรักษาด้วยการใส่แร่กัมมันตรังสี ชนิดอัตราแผ่ปริมาณรังสีสูง ครั้งแรก จำนวน 42  คน  แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 21 คน กลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลตามปกติ  กลุ่มทดลองคือ กลุ่มที่ได้รับปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลตามปกติร่วมกับการใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็ก  ดำเนินการวิจัยทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสอดใส่เครื่องมือนำแร่ ,ระยะรักษาด้วยแร่ และระยะถอดเครื่องมือนำแร่  เครื่องมือดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ,แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ,แบบประเมินความปวด(Numeric Rating Scale, NRS) และประเมินความพึงพอใจเมื่อสิ้นสุดการทดลอง  วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลเป็น ร้อยละ และเปรียบเทียบระดับความปวดระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติวิเคราะห์  Nonparametric ชนิด  Mann-Whitney U test  

             ผลการศึกษาพบว่า ระยะรักษาด้วยแร่ และระยะถอดเครื่องมือนำแร่ ในกลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยระดับความปวดต่ำกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.01 ,0.03) ในระยะสอดใส่เครื่องมือนำแร่ ทั้งสองกลุ่ม มีระดับความปวดไม่แตกต่างกัน (P=0.26) และกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจต่อหุ่นยนต์ขนาดเล็ก(Din sow mini robot)ระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.80 

   การศึกษานี้ได้สรุปว่า พยาบาลรังสีรักษาสามารถนำหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Din sow mini robot)มาเสริมกิจกรรมการพยาบาลเพื่อลดความปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากบรรเทาความปวดแล้วยังช่วยให้เกิดความเพลิดเพลินมีประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อการใส่แร่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-08-29