การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงบ้าน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด ในโรงพยาบาลหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

ผู้แต่ง

  • ธรรมวรรณ์ บูรณสรรค์

คำสำคัญ:

การดูแลอย่างต่อเนื่อง, หญิงตั้งครรภ์, ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงบ้านสำหรับหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด โรงพยาบาลหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี  โดยใช้แนวคิดการดูแลอย่างต่อเนื่องร่วมกับใช้วงจรการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องของ Edward Deming  ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนารูปแบบการดูแลและนำรูปแบบไปทดลองใช้กับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดจำนวน 30 คน และพยาบาลวิชาชีพจำนวน 8 คน ขั้นตอนที่ 3  การติดตามและประเมินผลการใช้รูปแบบการดูแลที่ได้พัฒนาขึ้น พบว่า 1) เมื่อนำรูปแบบการดูแลอย่างต่อเนื่องไปปฏิบัติจริงกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด มีอัตรากลับมารักษาซ้ำ คิดเป็นร้อยละ20 อัตราการคลอดก่อนกำหนด คิดเป็นร้อยละ 17  การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยและการทำงานหนักเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด  2)พยาบาลวิชาชีพสามารถปฏิบัติตามรูปแบบได้ทุกกิจกรรม 3)ความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพต่อรูปแบบการดูแลอย่างต่อเนื่องสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  พบว่ามีความคิดเห็นอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก 3 ลำดับแรก คือ เนื้อหามีความชัดเจน    (x̄ =4.08, SD=0.42) มีความชัดเจนมากกว่าแนวทางเดิม  (x̄ =4.21, SD=0.39)  และมีประโยชน์ต่อหน่วยงาน (x̄ =4.17, SD=0.38)  ขั้นตอนที่ 4 การนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขและวางแผนการพัฒนาใหม่ มีข้อเสนอแนะว่ารูปแบบสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ควรกำหนดเป็นนโยบายมีการติดตาม กำกับ ประเมินและปรับปรุงให้มีชัดเจนและความเหมาะสมกับหน่วยงาน

เผยแพร่แล้ว

2021-12-31