ผลของโปรแกรมการส่งเสริมศักยภาพสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ต่ออัตราการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดและการคลอดก่อนกำหนด

ผู้แต่ง

  • ประชุมพร สุวรรณรัตน์
  • ทิพย์วรรณ บุณยาภรณ์
  • ศศิธร คำพันธ์

คำสำคัญ:

การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, การคลอดก่อนกำหนด, การส่งเสริมศักยภาพ

บทคัดย่อ

       

การวิจัยกึ่งทดลองแบบศึกษาสองกลุ่มเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมศักยภาพสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่างคือ สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลตรัง แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมศักยภาพสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด กลุ่มละ 30 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการส่งเสริมศักยภาพสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด  แบบวัดความรู้เกี่ยวกับภาวะเจ็บครรภ์คลอด           ก่อนกำหนด และแบบบันทึกผลลัพธ์ของการคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสถิติไคว์สแควส์

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีอัตราการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยพบอัตราการเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมที่ร้อยละ 6.67 และ 16.67 ตามลำดับ        ส่วนอัตราการคลอดก่อนกำหนดระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า มีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05)    โดยไม่พบอัตราการคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มทดลอง แต่พบในกลุ่มควบคุมถึงร้อยละ 30 ดังนั้นการใช้โปรแกรมการส่งเสริมศักยภาพสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสามารถตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอดได้นั้น จำเป็นต้องส่งเสริมศักยภาพให้สตรีตั้งครรภ์ปฏิบัติพฤติกรรมเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด

เผยแพร่แล้ว

2022-12-31