ผลการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการป้องกันแผลกดทับร่วมกับโฟมรักษาแผลปกป้องผิวหนังบริเวณกระดูกกระเบนเหน็บในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเกิดแผลกดทับ หอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและระบบประสาท โรงพยาบาลแพร่

ผู้แต่ง

  • ศศิธร แก้วกล้า โรงพยาบาลแพร่
  • ศิริกาญจน์ จินาวิน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีแพร่ สถาบันพระบรมราชชนก

คำสำคัญ:

แผลกดทับ กระดูกกระเบนเหน็บ โฟมรักษาแผล

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลการป้องกันแผลกดทับร่วมกับการใช้โฟมรักษาแผล (Polyurethane foam) ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุและระบบประสาท โรงพยาบาลแพร่ที่มีคะแนนบราเดนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 18 คะแนน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มควบคุม 30 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความเสี่ยงการเกิดแผลกดทับ Braden Scale แบบบันทึกติดตามอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับ แนวปฏิบัติการพยาบาลป้องกันแผลกดทับ โรงพยาบาลแพร่ และโฟมรักษาแผล (Polyurethane foam) ข้อมูลส่วนบุคคลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่าง อัตราการเกิดแผลกดทับและค่าใช้จ่ายวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ สถิติฟิชเชอร์ เอกแซค และ ไคสแควร์

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลองไม่มีอุบัติการณ์ของการเกิดแผลกดทับ กลุ่มควบคุมมีอุบัติการณ์ของการเกิดแผลกดทับจำนวน 5 ครั้ง อุบัติการณ์ของการเกิดแผลกดทับระหว่างสองกลุ่มมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p = .02) พยาบาลและบุคลากรทางด้านสุขภาพสามารถนำโฟมรักษาแผลมาใช้ร่วมกับแนวปฏิบัติการพยาบาลจะส่งผลให้ป้องกันการเกิดแผลกดทับมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

เผยแพร่แล้ว

2023-04-30