ความสัมพันธ์ระหว่างความผูกพันในครอบครัว เหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบ ความฉลาดทางอารมณ์ กับภาวะสุขภาพจิตของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
คำสำคัญ:
ความผูกพันในครอบครัว, เหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบ, ความฉลาดทางอารมณ์, ภาวะสุขภาพจิต, นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความผูกพันในครอบครัว เหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบ ความฉลาดทางอารมณ์ กับภาวะสุขภาพจิตของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษา เขต 28 จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 357 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน 2558 เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย (1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล
(2) แบบสอบถามความผูกพันในครอบครัว (3) แบบสอบถามเหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบ
(4) แบบสอบถามความฉลาดทางอารมณ์ และ (5) แบบสอบถามภาวะสุขภาพจิต แบบสอบถามแต่ละชุดมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ .75, .97, .84 และ .84 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s correlation coefficient)
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความผูกพันในครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง
( = 3.57, SD = 0.80) มีการรับรู้เหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบอยู่ในระดับไม่เกิดความยุ่งยากใจ
( = 1.21, SD = 0.86) ความฉลาดทางอารมณ์อยู่เกณฑ์ปกติ ( = 153.36, SD = 16.62) และมีภาวะสุขภาพจิตดี (คะแนน < 4) จำนวน 233 คน คิดเป็นร้อยละ 65.27 ( = 3.79, SD = 3.91)
ความผูกพันในครอบครัว และความฉลาดทางอารมณ์มีความสัมพันธ์ทางลบระดับปานกลางกับภาวะสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -0.55, p < .001 และ r = -0.34, p < .001 ตามลำดับ)
เหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำกับภาวะสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.20, p < .001) ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตของวัยรุ่น ผู้บริหาร คณาจารย์ ครอบครัวและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่น ควรให้ความสำคัญกับความผูกพันในครอบครัว ความฉลาดทางอารมณ์ และคำนึงถึงเหตุการณ์ในชีวิตเชิงลบ ที่ส่งผลต่อวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมให้วัยรุ่นมีภาวะสุขภาพจิตดี