ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบก ที่มารับบริการแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินในโรงพยาบาลของรัฐ จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้แต่ง

  • จริยา ละมัยเกศ สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสุพรรณบุรี
  • ชวนพิศ ศิริไพบูลย์ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี
  • วัชรินทร์ โกมลมาลัย วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี

คำสำคัญ:

อุบัติเหตุจราจร, ปัจจัยเสี่ยง, การเสียชีวิต

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบกที่เข้ารับบริการที่แผนกอุบัติฉุกเฉินในโรงพยาบาลของรัฐ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังประชากรที่ศึกษาได้แก่ เวชระเบียนผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบกที่บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งจำนวน 10 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี ตามโครงสร้างมาตรฐานข้อมูล 43 แฟ้ม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2558 – วันที่ 31 ธันวาคม 2560  ประชากรในการวิจัย คือ ข้อมูลผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบกที่มารับบริการแผนกอุบัติเหตุ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป นำเสนอข้อมูลเป็นค่าความถี่ ร้อยละ และการประเมินปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วยโดยใช้สมการถดถอยลอจิสติค(Logistic Regression) ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95

ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ จำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุทั้งหมด 39,186 ราย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 279 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.71  ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 239 ราย (ร้อยละ85.66 ) เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกพบว่า เพศชายมีความเสียงต่อการเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง 2.95 เท่า (OR =2.95, CI =2.11 - 4.12 ) กลุ่มอายุ 30-44 ปี มีความเสียงต่อการเสียชีวิตเป็น 6.30 เท่าของกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี (OR =6.30 , CI =3.67-10.82 ) ถนนในชุมชนมีความเสียงต่อการเสียชีวิตเป็น4.13 เท่า ของถนนสายหลัก (OR = 4.13, CI =2.71 – 6.29 ) รถเก๋งมีความเสียงต่อการเสียชีวิตเป็น 4.75 เท่าของจักรยานยนต์ (OR = 4.75, CI =2.72 – 8.29)  ผู้โดยสารมีความเสียงต่อการเสียชีวิตเป็น1.42 เท่าของผู้ขับขี่ (OR = 1.42, CI =1.06 – 1.91) ประเภทการมารับบริการระดับความเร่งด่วนมีความเสียงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่า 0.45 เท่าของผู้ป่วยบาดเจ็บวิกฤต (OR = 0.54, CI =0.29 – 0.98) พฤติกรรมเสี่ยง ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรทางบกอยู่ในช่วงวัยทำงานพาหนะเป็นรถเก๋ง และเป็นผู้โดยสาร ดังนั้น ระดับนโยบายควรกวดขันการสร้างวินัยจราจรและเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจร ตลอดจนลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

References

กัญญา วังศรี และคณะ. (2559). การจัดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจร ณ จุดเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ขอนแก่น:โรงพยาบาลศรีนครินทร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุม โรคกระทรวงสาธารณสุข. (2558). สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน. นนทบุรี: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (2554). แผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ศตวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554-2563. กรุงเทพ: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ. (2553). การป้องกันอุบัติเหตุจากภัยจราจร. คณะกรรมการ ป้องกันอุบัติเหตุแห่งชาติ.กรุงเทพฯ.

ณัฎฐมณี จิรินทรกุล. (2543). ประสิทธิผลของโปรแกรมสุขศึกษาต่อการรับรู้ความคาดหวังใน สามารถของตนเองและพฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัยของผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรุงเทพ.

สาธิต อินตา. (2546). ความคิดเห็นของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ยานพาหนะต่อการเกิดอุบัติเหตุ ศึกษากรณี : ในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี. มหาวิทยาลัยบูรพา:ชลบุรี.

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข. (2558). สาเหตุหลักของการสูญเสียปีสุขภาวะในแต่ละกลุ่มอายุ. รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2556.นนทบุรี: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข.

สำนักโรคไม่ติดต่อ. (2559). รายงานประจำปี 2560. นนทบุรี: กรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุข. (2560). รายงานประจำปี 2560. นนทบุรีสำนักโรคไม่ติดต่อ.: กรมควบคุมโรค กระทรวง สาธารณสุข.

Demissie, M. (2017). RISK FACTORS ASSOCIATED WITH SERIOUS AND FATAL ROAD TRAFFIC ACCIDENTS IN MANZINI CITY, SWAZILAND. A mini-thesis submitted in partial fulfillment of the requirements for the degree of Master in Public Health at the School of Public Health, University of the Western Cape.

Valenta,F.&Schiavab,F.&Savonittoc,C.& Gallod,T.& Brusaferroa,s.&Barboneae,F.(2002). Risk factors for fatal road traffic accidents in Udine, Italy: Accident Analysis & Prevention Volume 34, Issue 1, January 2002, 71-84.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-01