ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสภาวะโรคฟันผุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในเด็กอายุ 3 ปี ที่อาศัยในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน อําเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี และ หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 3 ปี ที่กําลังเรียนอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จํานวน 257 คน โดยเป็นเด็กในเขตเทศบาลไชยวาน จํานวน 90 คน และ นอกเขตเทศบาล จํานวน 167 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์มารดา หรือผู้ดูแลเด็ก เพื่อประเมินปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม และพฤติกรรมการดูแลเด็กของมารดาหรือผู้ดูแลเด็ก และตรวจสภาวะฟันผุของเด็ก ด้วยดัชนีฟันผุ ถอน อุด คิดเป็นซี่ต่อคน (dmft) และอนามัยช่องปากด้วยดัชนีอนามัยช่องปาก (Oral Hygiene Index) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติไคสแควร์ (Chi-square test) สถิติทดสอบ t-test และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ (Multiple Linear Regression) ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม และพฤติกรรมการดูแลเด็กของมารดาหรือ ผู้ดูแลเด็ก เปรียบเทียบในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (P-value<0.05) เด็กในเขตเทศบาลฟันผุร้อยละ 76.7 และมีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด (+ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 5.8+4.8 ซีต่อคน และนอกเขตเทศบาล ฟันผุร้อยละ 85.0 และมีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด เท่ากับ 6.1+4.3 ซีต่อคน โดยในเขตเทศบาล พบว่า สภาวะอนามัยช่องปาก (b=4.99, 95% CI = 3.89 ถึง 6.09) มีความสัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุ (dmft) ซึ่งสามารถทํานายสภาวะโรคฟันผุได้ร้อยละ 48 (R = 0.48) และนอกเขตเทศบาล พบว่า สภาวะอนามัยช่องปาก (b = 3.45, 95% CI = 2.56 ถึง 4.34) และความถี่ของการบริโภคขนม (b=0.42, 95%CI = 0.14 ถึง 0.69) มีความ สัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุ ซึ่งสามารถร่วมกันทํานายสภาวะโรคฟันผุของเด็กนอกเขตเทศบาลไชยวานได้ร้อยละ 32 (R = 0.32) และเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุระหว่างในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน พบว่า สภาวะอนามัยช่องปาก มีความสัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุทั้งในและนอกเขตเทศบาลไชยวาน แต่อย่างไร ก็ตาม พบว่า ความถี่ของการบริโภคขนมมีความสัมพันธ์กับสภาวะโรคฟันผุนอกเขตเทศบาลเท่านั้น ดังนั้นควรมีการส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้มารดาหรือผู้ดูแลเด็กเห็นความสําคัญของการดูแลความสะอาดปากและฟันให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก และควบคุมกํากับการบริโภคขนมในเด็กร่วมด้วย