ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (Factors Affecting Self-Development Behaviors of Students in Silpakorn University, Sanam Chandra Palace Campus)

Main Article Content

กันยารัตน์ เมืองแก้ว (Kanyarat Muangkaew)

Abstract

              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับพฤติกรรมการพัฒนาตนเอง ความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การปลูกฝังจากครอบครัว และการได้รับอิทธิพลจากสื่อ 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษา จำแนกตามเพศ คณะวิชา ชั้นปีที่ศึกษา ผลการเรียนเฉลี่ย ระดับการศึกษาของบิดา ระดับการศึกษาของมารดา ค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่อเดือน และลักษณะการพักอาศัย 3) ศึกษาความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การปลูกฝังจากครอบครัว และการได้รับอิทธิพลจากสื่อเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษา 4) ศึกษามุมมองในการส่งเสริมพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณ ได้แก่ นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ที่กำลังศึกษาในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2558 จำนวน 386 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ นักศึกษาที่มีพฤติกรรมการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม โดยได้รับการรับรองจากอาจารย์ผู้สอนและมีความสมัครใจในการให้ข้อมูลจาก 5 คณะวิชา ๆ  ละ 3 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเกี่ยวกับมุมมองในการส่งเสริมพฤติกรรมการพัฒนาตนเองใน 4 ประเด็น ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ (Stepwise Multiple Regression Analysis) สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)


               ผลการวิจัย พบว่า


  1. พฤติกรรมการพัฒนาตนเอง ความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตน แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และการปลูกฝังจากครอบครัวของนักศึกษา อยู่ในระดับมาก ส่วนการได้รับอิทธิพลจากสื่อ อยู่ในระดับปานกลาง

  1. พฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษาที่มีเพศ คณะวิชา ชั้นปีที่ศึกษาต่างกัน มีพฤติกรรมการพัฒนาตนเองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนนักศึกษาที่มีผลการเรียนเฉลี่ย ระดับการศึกษาของบิดา ระดับการศึกษาของมารดา ค่าใช้จ่ายที่ได้รับต่อเดือน และลักษณะการพักอาศัยต่างกัน มีพฤติกรรมการพัฒนาตนเองไม่แตกต่างกัน

  2. แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การได้รับอิทธิพลจากสื่อ และความเชื่อในประสิทธิภาพแห่งตนสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการพัฒนาตนเองของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้ร้อยละ 59.40 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

  3. นักศึกษามีมุมมองในการส่งเสริมพฤติกรรมการพัฒนาตนเอง ดังนี้ 1) ด้านร่างกาย ได้แก่ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการพัฒนาในด้านร่างกายได้อย่างเหมาะสม 2) ด้านจิตใจ ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ การหาวิธีผ่อนคลายอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม มีเป้าหมายในการใช้ชีวิต เห็นคุณค่าของตนเอง สามารถเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการมีแนวทางดำเนินชีวิตที่มีความสุข 3) ด้านสังคม ได้แก่ การรู้จักสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีทักษะทางการสื่อสาร มีทักษะทางสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต การรู้กาลเทศะ และมีความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และ 4) ด้านสติปัญญา ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผล สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ รู้จักหาวิธีการจัดการรับมือกับปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ด้วยปัญญา และมีเทคนิควิธีการพัฒนาการเรียนอย่างเหมาะสม

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ