การศึกษาและทดลองเทคนิคสต็อปโมชั่นภาพเขียน (Research and Experiment in Paint-stopmotion Technique)

Main Article Content

ปภัทรนันท์ คุณพูนทรัพย์ (Papattaranan Kunphunsup)

Abstract

               สื่อ คือส่วนขยายของมนุษย์ และตัวสื่อนั้นเองก็คือสารชนิดหนึ่ง เนื่องจากสื่อมีผลต่อการควบคุมและปรุงแต่งรูปแบบพฤติกรรมการมีส่วนร่วมของของมนุษย์ (McLuhan, 1964) โดยกำหนดขอบเขตความคิดของมนุษย์ผู้ใช้สื่อนั้น  เช่น มนุษย์ไม่สามารถใช้สัญญาณควันไฟเป็นสื่อถกเถียงข้อคิดทางปรัชญาได้ เนื่องจากรูปแบบของสื่อไม่ซับซ้อนพอ (Postman, 1985/2005) ดังนี้ การเลือกใช้สื่อที่เหมาะกับเนื้อหาจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความสอดคล้องกันจะช่วยให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลังยิ่งขึ้น


               งานวิจัยชิ้นนี้จึงสนใจศึกษาและทดลองผลิตสื่อด้วยเทคนิคสต็อปโมชั่นภาพเขียน ซึ่งเป็นสื่อที่มีความน่าสนใจ สามารถสร้างงานด้วยงบประมาณจำกัด โดยยังเอื้อให้ใช้เทคนิคทางจิตรกรรมเพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวซึ่งมีความงามจากพื้นผิวที่เห็นร่องรอยการเขียน ทำให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวและความมีชีวิตชีวาที่มีรูปแบบเฉพาะตัว และในปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาเกี่ยวกับสื่อชนิดนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากสามารถสรุปได้ว่าลักษณะเฉพาะของสื่อนี้ เหมาะสำหรับใช้นำเสนอเนื้อหาแบบใด มีข้อจำกัดและขั้นตอนในการทำงานอย่างไร  ต้องใช้เวลาและงบประมาณเท่าใดจึงจะสามารถสร้างผลงานขึ้นได้ ก็จะเกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจนำเทคนิคสต็อปโมชั่นภาพเขียนไปใช้เพื่อสร้างผลงานต่อได้ นอกจากนี้แล้ว การตีแผ่ปรากฏการณ์สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจกระบวนการสร้างสรรค์ งานวิจัยนี้ยังอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจระเบียบวิธีวิจัยสร้างสรรค์อีกด้วย

Article Details

Section
Humanities, Social Sciences, and Arts