พุทธจิตรกรรมทังกาในลัทธิวัชรยานแบบทิเบตที่เก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์เย็น (โผวเหย่งหยี่) อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และมูลนิธิพันดารา อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
Main Article Content
Abstract
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเนื้อหาและรูปแบบทางศิลปกรรมของพุทธจิตรกรรมทังกาในลัทธิวัชรยานแบบทิเบตที่ถูกเก็บรักษาไว้ในประเทศไทยสมัยปัจจุบัน ทั้งนี้ผู้ศึกษาได้เลือกจิตรกรรมทังกาที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์เย็นและมูลนิธิพันดาราเป็นกรณีศึกษา โดยนำมาเปรียบเทียบกับจิตรกรรมทังกาตามแนวประเพณีของทิเบตตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
ผลการศึกษาด้านเนื้อหาสรุปได้ว่าจิตรกรรมทังกาที่เป็นกรณีศึกษามีรูปลักษณ์สำคัญตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์สาธนมาลาและประติมานวิทยาของพระพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานแบบทิเบต ทั้งนี้อาจปรับเปลี่ยนรายละเอียดรูปลักษณ์บางประการไปตามรสนิยมของชาวทิเบตโดยที่ไม่ทำให้เนื้อหาหลักหรือการตีความสัญลักษณ์เปลี่ยนไป
ส่วนผลการศึกษาด้านรูปแบบศิลปกรรมของจิตรกรรมทังกาที่เป็นกรณีศึกษาแบ่งได้ 2 รูปแบบสำคัญคือ จิตรกรรมทังกาทิเบตแบบภาคกลาง และจิตรกรรมทังกาทิเบตแบบภาคตะวันออก โดยทั้งสองรูปแบบนี้มีลักษณะร่วมกันทั้งการจัดองค์ประกอบ การใช้รูปทรงบุคคลตามประติมานวิทยา การใช้เส้นรอบนอก และการรับอิทธิพลรูปทรงแบบศิลปะจีน โดยล้วนเป็นรูปแบบจิตรกรรมทังกาทิเบตตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แต่ความแตกต่างของรูปแบบทั้งสองคือการใช้สีที่จิตรกรรมทังกาทิเบตแบบภาคกลางเน้นสีที่สดจัดและหนา ส่วนจิตรกรรมทังกาทิเบตแบบภาคตะวันออกมีสีที่ไม่สดจัด บาง และเน้นการสร้างบรรยากาศคล้ายจิตรกรรมทิวทัศน์แบบศิลปะจีน
การศึกษาวิทยานิพนธ์นี้จะเป็นประโยชน์ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปกรรมทิเบตโดยเฉพาะพุทธจิตรกรรมทังกาทิเบตที่ถูกเก็บรักษาไว้ในประเทศไทย และเพื่อให้สังคมไทยได้เข้าใจในศิลปกรรมและพระพุทธศาสนาในลัทธิวัชรยานแบบทิเบตให้มากยิ่งขึ้น