ภาพปูนปั้นบนฝาผนังในวิหารวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

Main Article Content

ชัยณรงศ์ วิรุฬพัฒน์

Abstract

          วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพปูนปั้นบนฝาผนังและศิลปกรรมภายในวิหารวัด บางกะพ้อม ศึกษาเนื้อหาความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนา ความเชื่อ ประเพณีในกรณี ฝีมือช่างพื้นบ้าน และศึกษารูปแบบทางศิลปกรรมเพื่อกำหนดยุคสมัยภาพปูนปั้นโดยการเปรียบเทียบกับศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยเฉพาะช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          จากการศึกษาเปรียบเทียบอิทธิพลในการสร้างงานพุทธศิลป์ในวิหารวัดบางกะพ้อมนั้น มีรูปแบบคล้ายคลึงกันกับงานจิตรกรรมของช่างหลวง เช่น งานศิลปกรรมในเขตพุทธาวาส วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร และวัดอื่นๆ ในช่วงสมัยเดียวกัน

          จากผลการศึกษาพอจะสรุปได้ว่า เนื้อหาที่นำมาใช้ในภาพปูนปั้นนี้ เป็นเรื่องราวในพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อันมีต้นเค้ามาจากพระไตรปิฎก ได้แก่ เรื่องพุทธประวัติ จากพระสุตตันตปิฎก หรือจากพระปฐมโพธิกถา ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ ตำนานพระพุทธบาท และเนื้อหาเกี่ยวกับจริยวัตรของสงฆ์ ได้แก่ อสุภ-กรรมฐาน ธุดงค์วัตรเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิประจำวันของคนในพื้นถิ่นปรากฏในภาพปูนปั้นด้วย

          ภาพปูนปั้นนอกจากจะมุ่งไปทางเนื้อหาโดยตรงและสุนทรียศาสตร์ในศิลปกรรมแล้ว แต่ทว่ายังแสดงสื่อสัญลักษณ์ที่สร้างความหมายให้กับพุทธสถานและบริบทโดยรวมของสังคม ดังเช่น วิถีชีวิตประจำวัน ความเชื่อและประเพณีของคนไทยในท้องถิ่น

Article Details

Section
บทความ : ศิลปะและการออกแบบ