สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในจิตรกรรมไทยประเพณีจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (รวมถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น) ไปสู่ช่วงหลังสมัยรัชกาลที่ 3
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่งชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งความรุ่งเรืองของจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1 - 3) และเหตุผลแห่งการเปลี่ยนผันไปสู่ความตกต่ำเสื่อมถอยในสมัยรัชกาลที่ 4 จากแนวคิดที่ตกอยู่ภายใต้กระแสอันผันผวนท่ามกลางยุคสมัยที่โลกสันนิวาส มีทัศนคติมากมายหลากหลายแง่มุมที่กล่าววิพากษ์ความเป็นไปในช่วงเวลาดังกล่าว การวิจัยนี้จึงได้ทำการเปรียบเทียบแนวความคิดทางพระพุทธศาสนา และรูปแบบของจิตรกรรมไทยในช่วงสมัยก่อนและหลังความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสืบค้นหาความกระจ่างชัดจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นว่าภูมิรู้แต่เดิมมานั้นสามารถหยั่งถึงนามธรรมของรูปทรงทางศิลปะได้ จากความเข้าใจในทัศนธาตุ ซึ่งมีพลังอยู่เหนือการรับรู้และเข้าใจเชิงตรรกะวิธี ในขณะเดียวกันการปฏิรูปแนวคิดทางพุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิทยาการทางวัตถุในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ส่งผลต่อแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปกรรม ความไม่ชัดเจนในแง่ของสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ได้ยังผลให้การประเมินคุณค่าจิตรกรรมไทยประเพณีขาดความชัดเจนไปด้วย ภูมิรู้อันล้ำลึกทางพระพุทธศาสนาที่ประสานสัมพันธ์อยู่กับรูปแบบการนำเสนอภาพจิตรกรรมไทยประเพณี อันเคยรุ่งเรืองเนิ่นนานมา กลับมีผู้เห็นคุณค่าเพียงเปลือกผิว จึงควรกล่าวได้ว่าความรู้แบบใหม่ได้บดบังภูมิรู้เชิงศิลปะในจิตรกรรมไทยประเพณี ที่อิงอยู่กับมิติทางธรรมอันลึกซึ้งของพุทธศาสตร์ ให้ถึงความเสื่อมคลายในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเอง