การประเมินหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Main Article Content

มาเรียม นิลพันธุ์

Abstract

               การวิจัยเรื่อง การประเมินหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายโยงความรู้ 2) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการประเมินหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยใช้แนวคิดการประเมินของ Danial L. Stufflebeam รูปแบบการประเมินแบบ CIPPIEST Model เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การตรวจเอกสารหลักสูตร สอบถามความคิดเห็นและสัมภาษณ์ความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรจากกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 2 คน คณะกรรมการดำเนินงาน/อาจารย์ประจำหลักสูตร จำนวน 9 คน ผู้สอน/กรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ จำนวน 18 คน ผู้ใช้บัณฑิตจำนวน 23 คน นักศึกษา 103 คน และ บัณฑิต จำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบตรวจเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติคือค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (X) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า

               1. ผลการประเมินหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยภาพรวมพบว่ามีความคิดเห็นว่าเหมาะสมอยู่ในระดับมาก 

               2. ผลการประเมินด้านบริบท ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ วัตถุประสงค์หลักสูตรเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ความเหมาะสมของจำนวนหน่วยกิตทั้งหมด โดยมีความคิดเห็นว่าจำนวนหน่วยกิตมากเกินไป

               3. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า หลักสูตรมีความเหมาะสมในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ คุณวุฒิ ความรู้ ประสบการณ์ผลงานทางวิชาการและผลงานวิจัยของอาจารย์มีศักยภาพ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความเหมาะสมห้องปฏิบัติการจุดเชื่อมต่อ Internet ห้องทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

               4. ผลการประเมินด้านกระบวนการ ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ซึ่งข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์มีการตรวจสอบงาน และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างชัดเจนเหมาะสม และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือการบริการด้านธุรการ การยืนคำร้องต่างๆ การจัดการเรียนการสอนควรเน้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติมจากการเรียนในชั้นเรียน 

               5. ผลการประเมินด้านผลผลิต ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า มีความคิดเห็นว่าบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีความเป็นผู้นำทางวิชาการ/วิชาชีพ มีความสามารถพัฒนาหลักสูตรได้ และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก มีความคิดเห็นว่า ข้อเสนอแนะที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือบัณฑิตที่จบการศึกษาตามหลักสูตรมีคุณลักษณะที่เหมาะสม

               6. ผลการประเมินด้านผลกระทบ ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก บัณฑิตมีความคิดเห็นในภาพรวมว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เพื่อพิจารณารายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ บัณฑิตได้นำความรู้ที่ได้เรียนไปสร้างผลงานทางวิชาการหรือนวัตกรรมการเรียนการสอน และผลการปฏิบัติงานของบัณฑิตส่งผลต่อการดำเนินงานของหน่วยงานได้รับผลประโยชน์ตรงตามที่คาดหมาย และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานต่างๆ ในหน่วยงานและนอกหน่วยงาน 

               7. ผลการประเมินด้านประสิทธิผล ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือผลการปฏิบัติงานของบัณฑิต ส่งผลต่อประสิทธิภาพด้านวิชาการภายในหน่วยงาน ข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือประสิทธิภาพด้านการจัดการของหน่วยงาน

               8. ผลการประเมินด้านความยั่งยืน ในภาพรวมและรายข้อพบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ การพัฒนาวิชาชีพ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือการศึกษาดูงานในประเทศ

               9. ผลการประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ ในภาพรวมและรายข้อ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณา พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือบัณฑิตนำความรู้ไปปฏิบัติงานได้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์กับตามความต้องการของชุมชนโดยการปรับปรุงและการนำไปใช้ เกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีใหม่ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาได้รับเชิญเป็นวิทยากรด้านหลักสูตรการสอน และการนิเทศ

            10. ผลการศึกษาปัญหา และแนวทางการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน พบว่า ด้านบริบท พบว่า โครงสร้างรายวิชาในหลักสูตร (แผน 2) มีจำนวนหน่วยกิตมากเกินไป ควรลดจำนวนหน่วยกิตโดยปรับความซ้ำซ้อนในบางรายวิชา ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า วิชาบังคับแกนบางรายวิชาผู้เรียนแต่ละกลุ่มวิชามีพื้นความรู้แตกต่างกัน ในการจัดการเรียนการสอนควรมีการแบ่งกลุ่มย่อยผู้เรียนตามกลุ่มวิชาหรือตามระดับพื้นฐานความรู้ความสามารถ ด้านกระบวนการ พบว่า แนวการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาฝึกปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรและการสอนยังไม่เป็นระบบ ควรส่งเสริมให้นักศึกษาใช้กระบวนการสืบเสาะ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้มากขึ้น การจัดระบบอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ขาดความชัดเจนและไม่สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาควรรับนักศึกษาที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ของตนเองในแต่ละด้าน ด้านผลผลิตพบว่าส่วนหนึ่งแต่งกายไม่เหมาะสม ขาดวินัยและความรับผิดชอบ ควรสร้างความตระหนัก และทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้มีบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ด้านผลกระทบ พบว่าขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณและเวทีนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ ดังนั้นทางควรสนับสนุนงบประมาณและหาเวทีการนำเสนอผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติ

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ