การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับนักเรียนทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น และ 2) ศึกษาผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 1 และเขต 5 คือ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 2 (สมาน สุเมโธ) โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ (ราษฎร์คุรุวิทยาคาร) และโรงเรียนบ้านหนองนาคำ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ครูผู้สอนพัฒนาขึ้น แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบสัมภาษณ์ผู้บริหาร แบบบันทึกการนิเทศ แบบสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน รายงานสรุปผลการดำเนินงานของสถานศึกษา แบบสอบถามความคิดเห็นครูผู้สอนและแบบวัดความพึงพอใจของครูผู้สอนต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับนักเรียน ทั้งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น สรุปผลได้ดังนี้
การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) มี 4 ขั้นตอนคือ ขั้นที่ 1 วางแผน (Planning) ผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดนโยบาย วางแผนการจัดการเรียนรู้ โดยครูผู้สอนสร้างสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผู้บริหารวางระบบการนิเทศภายใน ขอความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 ปฏิบัติการ (Action) ครูผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 3 สังเกตการณ์ (Observation) ด้วยกระบวนการนิเทศภายในและภายนอก และขั้นที่ 4 สะท้อนผลปรับปรุงแก้ไข (Reflection) ด้วยการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำข้อมูลจากการตรวจสอบสะท้อนผลแล้วปรับปรุงแก้ไขแล้วร่วมกันวางแผนดำเนินการในวงรอบปฏิบัติการต่อไป
2. ศึกษาผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สรุปผล ได้ดังนี้
2.1 ผลจากการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนพบว่า ทั้ง 3 โรงเรียนรวมมีสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 59 หลักสูตร จำนวนครูที่ร่วมโครงการ 59 คน จำนวนแผนการจัดการเรียนรู้ 593 แผน จำนวนนักเรียนที่ได้รับการพัฒนา 3,076 คน ผลที่เกิดขึ้นกับครูพบว่า ครูที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น สามารถจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการสอนในหลายรูปแบบ และพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ทรัพยากรใกล้ตัว และมีอยู่ในท้องถิ่น สามารถจัดการเรียนรู้เหมาะสมกับท้องถิ่น และมีความรู้ในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ตนรับผิดชอบ มีความรู้ความเข้าใจด้านการสร้างสื่อในการจัดการเรียนรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ และ การทำวิจัยในชั้นเรียน มีความพึงพอใจในการเข้ารับการอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด และผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนพบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน และมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสามารถนำความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนัก หวงแหนภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นของตนเอง เห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.2 ความคิดเห็นในการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ความคิดเห็นของครูผู้สอนก่อนดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X= 3.06) ส่วนหลังการดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (X= 4.29) และเมื่อเปรียบเทียบก่อนจัดการเรียนรู้และหลังการจัดการเรียนรู้พบว่าทุกประเด็นมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น
2.3 ความพึงพอใจของครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ในภาพรวมความพึงพอใจของครูผู้สอนในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับมาก (X= 4.24)