กองทุนหมู่บ้าน : ทุนทางสังคมในฐานะกระบวนการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านโนนสังข์

Main Article Content

ไพรรินทร์ พฤตินอก

Abstract

บทคัดย่อ:

            บทความเรื่อง กองทุนหมู่บ้าน:ทุนทางสังคมในฐานะกระบวนการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านโนนสังข์ ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม จากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน และ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน วิเคราะห์ผล อภิปรายผลและข้อเสนอแนะในเชิงพรรณนาโดยแนวคิดทุนทางสังของปิแอร์ บูดิเยอร์ (Pierre  Bourdieu) และ  โรเบิร์ต พุทนัม(Robert Putnam) ผลการศึกษาพบว่า  กองทุนหมู่บ้านโนนสังข์ สมาชิกส่วนใหญ่กู้ยืมเพื่อการลงทุนทางด้านการประกอบอาชีพ ได้แก่ การเกษตร  ค้าขาย  และเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกส่วนใหญ่ คือ ผู้มีรายได้ดี  ไม่มีเหตุจำเป็นจำเป็นที่ต้องกู้ยืม และไม่อยากเป็นหนี้ กองทุนหมู่บ้านนี้สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน ได้แก่    ทุนด้าน ความเชื่อวัฒนธรรม ประเพณี  ที่เชื่อมร้อยจิตใจคนในชุมชนผ่านกิจกรรมความเชื่อต่างๆ ให้เกิดความรัก สามัคคี อยู่กันแบบพี่น้อง มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ทุนด้านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ พบว่า ชุมชนมีความเป็นเครือญาติกันสูง ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มของกองทุนหมู่บ้านเป็นไปโดยไม่มีความซับซ้อน คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านมีความสัมพันธ์กันภายในกลุ่ม คือ การเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่กัน  ส่วนใหญ่ผู้ค้ำประกันอยู่ในสายตระกูลเดียวกันทำให้เกิดการเกาะเกี่ยวกันระหว่างบุคคลที่ต้องขับเคลื่อนให้กองทุนหมู่บ้านบริหารจัดการไปได้ภายใต้ปัญหาหลายๆด้าน เช่น ปัญหาด้านรายได้  ปัญหาด้านภัยพิบัติ ปัญหาด้านสุขภาพ   เป็นต้น ทุนด้าน  การประกอบอาชีพ  พบว่า  ชาวบ้านทุกครัวเรือนประกอบอาชีพทำนาซึ่งมีความสัมพันธ์กับรายได้ และการส่งใช้เงินยืมกองทุนหมู่บ้านในแต่ละปี  คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายกองทุนหมู่บ้านให้สามารถเอื้อกับบริบทของชุมชน ซึ่งในแนวคิดของ ปิแอร์ บูดิเยอร์ สะท้อนให้เห็นว่า ทุนทางสังคมมีฐานะเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สามารถสร้างมูลค่าระดับปัจเจก ที่มุ่งหวังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและชุมชน  โดยมี ผลประโยชน์เป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้เกิดเครือข่ายทางสังคม  ในขณะที่ แนวคิดของ   โรเบิร์ต พุทนัม  สะท้อนให้เห็นว่าทุนทางสังคมมีฐานะเป็นระบบคิดและค่านิยม  หรือ เป็นวัฒนธรรมของสังคม   มีพื้นฐานอยู่บนความไว้วางใจและมีบรรทัดฐานที่เป็นกรอบร่วมกัน ในการทำให้เกิดความร่วมมือการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ  ข้อเสนอแนะ  หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควรมีการกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้ทุนทางสังคมในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้าน มุ่งเน้นให้มีการศึกษาวิจัยทางสังคมเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่และนำผลการศึกษาที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จริง

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ