ผลของการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีต่อการเรียนรู้คำศัพท์ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนบ้านทุ่งสีเสียด อำเภอบางสะพานน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1

Main Article Content

พรพิมล บัวผดุง

Abstract

บทคัดย่อ 

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์อังกฤษ และ 2)  เปรียบเทียบการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ระหว่างเพศชายและเพศหญิง หลังการจัดกิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 อายุ 6 ปี จำนวน 16 คน แบ่งเป็นเพศชาย 8 คน และเพศหญิง 8 คน ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างง่ายจากโรงเรียนบ้านทุ่งสีเสียด อำเภอบางสะพานน้อย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แผนการจัดกิจกรรมท่องคำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษ จำนวน 24 แผน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ และแบบทดสอบการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 25 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม

               ผลการวิจัยพบว่า 1) การเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยภาพรวมและรายด้านได้แก่ ด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการรู้ความหมายหลังการจัดกิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 2) การเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เพศชายและหญิงหลังการจัดกิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษด้านการฟัง การอ่าน การเขียน การรู้ความหมาย และโดยรวมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนด้านการพูด มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเด็กหญิงมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเด็กชาย ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษสามารถพัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ได้ และเด็กหญิงมีพัฒนาการด้านการพูดที่ดีกว่าเด็กชาย ครูปฐมวัยจึงควรนำกิจกรรมการใช้คำคล้องจองภาษาไทยประกอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษไปใช้เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษแก่เด็กปฐมวัยโดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านการพูดของเด็กปฐมวัยเพศชายให้มากขึ้น 

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ