โครงสร้างรับน้ำหนักแบบชาเหลียงในศาลเจ้าและภาพสะท้อนชาวจีนอพยพในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 - 5
Main Article Content
Abstract
บทนำ
หากกล่าวถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพ หลายท่านคงนึกถึงชาวจีน เนื่องจากมีจำนวนมาก และตั้งชุมชนกระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นก็มีบทบาทในด้านต่างๆอาทิ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อีกทั้งการอพยพเข้ามาในกรุงเทพฯของชาวจีนมีมายาวนานแล้ว โดยอาจย้อนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 22 หรือราวสมัยอยุธยาตอนกล แต่การอพยพมีมากขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ ดังที่สะท้อนในเอกสารประวัติศาสตร์ของทั้งฝ่ายไทย และตะวันตก และยืนยันโดยการศึกษาวิจัยของนักวิชาการในปัจจุบันด้วย
คำว่า “ชาวจีน” มีความหมายค่อนข้างกว้าง เพราะถึงแม้ชาวจีนในแต่ละพื้นที่ของแผ่นดินจีนจะมีวัฒนธรรมร่วมกันเช่น การนับถือเทพเจ้าลัทธิเต้า การปลูกฝังความคิดแบบขงจื่อ แต่ทว่ามีลักษณะบางประการที่ไม่เหมือนกันด้วย เช่น อาหาร และภาษาถิ่น ทั้งนี้หากยึดภาษาพูดเป็นเกณฑ์แบ่งแล้ว สำหรับชาวจีนอพยพในไทยแบ่งออกอีก 5 กลุ่ม คือ แต้จิ๋ว แคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ โดยสามกลุ่มแรกอพยพมาจากมณฑลกว่างตง ชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยน ส่วนชาวจีนไหหลำมาจากมณฑลไห่หนาน ซึ่งล้วนอยู่ทางตอนใต้ของจีนทั้งสิ้น
ชาวจีนเหล่านี้อพยพเข้ามาในไทย และตั้งหลักแหล่งอยู่หลายพื้นที่รวมไปถึงกรุงเทพฯ โดยการตั้งชุมชนของชาวจีนเหล่านี้มักแยกตามกลุ่มภาษา และเมื่อมีการตั้งชุมชนแล้ว ก็จะนิยมสร้างศาลเจ้าเพื่อประดิษฐานเทพอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ลักษณะดังกล่าวแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้ากับชาวจีนเฉพาะกลุ่มภาษาด้วย ความสัมพันธ์เช่นนี้ยังเห็นได้ในปัจจุบัน โดยถึงแม้ว่าศาลเจ้าจะเปิดให้บุคคลทั่วไปสักการะ แต่จะสังเกตได้ว่าศาลเจ้าเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของชาวจีนเฉพาะกลุ่ม เช่น ศาลเจ้าไทฮั้วของชาวจีนไหหลำ และศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะของชาวจีนแต้จิ๋วเป็นต้น
ถึงแม้ว่าชาวจีนอาจตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 แต่จากการสำรวจโดยผู้วิจัยพบว่า ศาลเจ้าส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 1 – 5 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และหลังจากรัชกาลที่ 5 ลงไป จำนวนศาลเจ้าที่สร้างขึ้นอย่างมากมายอาจแสดงถึงการอพยพของชาวจีนที่มีมากในช่วงเวลานี้ด้วย
ภาษาพูดพื้นถิ่นได้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ชาวจีนแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรมร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันด้วย ดังนั้นจึงน่าสนใจศึกษาว่า ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษาจะแสดงรูปแบบเฉพาะตัวของบ้านเกิดของตนเองด้วยหรือไม่ สำหรับบทความนี้ ผู้วิจัยขอศึกษาเฉพาะโครงสร้างไม้รับน้ำหนักซึ่งในภาษาจีนเรียกว่า “โกวเจี้ย” (构架) โดยจะศึกษาเฉพาะศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 – 5 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้างศาลเจ้าเป็นจำนวนมากกว่ายุคอื่นๆ