ปัจจัยทำนายความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี
คำสำคัญ:
ความสุข, การสนับสนุนทางสังคม, ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง, ความสามารถในการดูแลตนเอง, โรคเรื้อรังบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยรูปแบบผสมผสานระหว่างวิจัยเชิงปริมาณและวิจัยเชิงคุณภาพ (Mixed Methods Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความสุข ปัจจัยทำนายความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชน จังหวัดสุพรรณบุรี และเสนอตัวแบบปัจจัยทำนายความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้แนวคิดความสุขของ Argyle and Martin (1991) คือ ผู้สูงอายุวัยต้นและวัยกลางที่มีอายุระหว่าง 60-79 ปี ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคความดันโลหิตสูง สามารถช่วยเหลือตนเองได้และไม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 200 คน โดยการได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐาน แบบวัดการรับรู้ภาวะสุขภาพ แบบวัดความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบประเมินแรงสนับสนุนทางสังคมและแบบวัดความสุขในชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติการถดถอยพหุคูณ และมีการยืนยันตัวแบบปัจจัยทำนายความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการสนทนากลุ่ม (Focus group)
ผลการวิจัยพบว่าระดับความสุขของผู้สูงอายุ อยู่ในระดับปานกลาง (M=3.92, SD=0.46) แรงสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและความสามารถในการดูแลตนเองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .01 (r=.771, .730, .681 ตามลำดับ) โดยการสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง สามารถร่วมทำนายความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้ ร้อยละ 67 (R2=.673) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .01
ผลการสนทนากลุ่มของผู้สูงอายุจำนวน 7 คน เรื่องแนวคิดเกี่ยวกับผลของปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชนพบว่าผู้สูงอายุเห็นในทิศทางเดียวกันว่า แรงสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและความสามารถในการดูแลตนเองมีส่วนสำคัญที่มีผลต่อความสุขของตนเอง การได้รับการดูแลจากชุมชน องค์กรในท้องถิ่น การสร้างกิจกรรมที่มีสร้างคุณค่าให้กับผู้สูงอายุในชุมชน
ผลการสนทนากลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 5 คน เรื่องผลวิจัยเกี่ยวกับแรงสนับสนุนทางสังคม ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและความสามารถในการดูแลตนเอง ที่ส่งผลต่อความสุขของผู้สูงอายุ ซึ่งเห็นพ้องกันจนเกิดข้อมูลอิ่มตัวว่ามีความสอดคล้องและตรงกับบริบทในปัจจุบันที่ว่าสังคมหรือชุมชนมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างความสุขในผู้สูงอายุ การรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากขึ้นจากนโยบายที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และนวัตกรรมที่มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมที่ตอบสนองปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว
References
[2] รสรินทร์ เกร์, วรชัย ทองไทย และเรวดี สุวรรณนพเก้า. (2553). ความสุขเป็นสากล. กรุงเทพฯ: จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์, หน้า 81-86.
[3] ณัฐกานต์ สำเนียงเสนาะ. (2556). ปัจจัยทำนายความสุขของผู้สูงอายุในชุมชน จังหวัดฉะเชิงเทรา, ปริญญาวิทยานิพนธ์. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา, หน้า 51-55.
[4] จิตนภา ฉิมจินดา. (2555). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขในชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน จังหวัดนครปฐม, ปริญญาวิทยานิพนธ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยคริสเตียน, หน้า ง.
[5] ชุติไกร ตันติชัยวนิช. (2551). ความสุขของผู้สูงอายุในจังหวัดระยอง, ปริญญาวิทยานิพนธ์. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยมหิดล, หน้า ง.
[6] ยุพา ทองสุข. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความผาสุกทางใจในผู้สูงอายุ, ปริญญาวิทยานิพนธ์. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา, หน้า ง.