สถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในจังหวัดสมุทรปราการ
คำสำคัญ:
ถุงยางอนามัย, เพศสัมพันธ์, ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายบทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องสถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางเพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดสมุทรปราการ และอธิบายเหตุผลของการใช้หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดสมุทรปราการ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นชายที่เพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดสมุทรปราการอายุ 18 ปีขึ้นไปในจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 227 ราย เก็บข้อมูลด้วยเทคนิคผสานวิธี และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และข้อมูลเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วย ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อการใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (=3.48, SD.= .89) และกลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเหตุผลของการใช้และไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย นั้น พบว่า การใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มความมั่นใจในการมีเพศสัมพันธ์ ในการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า และสุดท้ายเพื่อ ป้องกันการเลอะอุจจาระ ส่วนเหตุผลของการไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ นั้น พบว่า มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียวจึงไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัย ความสุขทางเพศลดลง มีเพศสัมพันธ์แบบฉุกเฉิน คู่นอนไม่ชอบ เมาสุรา มีเพศสัมพันธ์ทางปาก และมีความเชื่อแบบผิดๆต่อการใช้ถุงยางอนามัย
ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งคลินิกให้บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและการป้องกันการแพร่กระจายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ครอบคลุม เน้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะการที่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายได้รับคำปรึกษาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการดูแลตนเองและการป้องกันการได้รับเชื้อเอชไอวีได้ อีกทั้งควรมีการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อเปรียบเทียบลักษณะของพื้นที่ว่าส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมหรือไม่โดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่งมีความเจริญทางวัตถุมากกว่า รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า ความเสี่ยงอาจจะมากกว่าและอาจมีแตกต่างกันตามลักษณะพื้นที่