การประเมินผลการใช้ระบบสารสนเทศโปรแกรมดูแลระยะยาว ด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง Long Term Care เขตสุขภาพที่ 1

ผู้แต่ง

  • ชลลดา สรศักดิ์ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่

คำสำคัญ:

การประเมินผล, ระบบสารสนเทศ, โปรแกรมดูแลระยะยาว ด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง, Long Term Care, เขตสุขภาพที่ 1

บทคัดย่อ

จากแนวคิดการปฏิรูประบบการดูแลสุขภาพไปสู่ยุคใหม่ กระทรวงสาธารณสุขกำหนดยุทธศาสตร์หลักเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปไปสู่ Health 4.0 กรมอนามัยและมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ ได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบโปรแกรมดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) เพื่อขึ้นทะเบียน Care Manager Caregiver และจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุรายบุคคล(Care plan) เนื่องจากเป็นการจัดทำโปรแกรมใช้เป็นครั้งแรก จึงต้องมีการประเมินการใช้โปรแกรม เพื่อตัดสินประสิทธิภาพของโปรแกรม และปรับปรุงให้มีคุณภาพ ทันสถานการณ์ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ทั่วไป (General Objective) คือเพื่อประเมินผลการใช้โปรแกรมดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) เขตสุขภาพที่1 และมีวัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objective) คือ เพื่อประเมินความเข้าใจของผู้ใช้โปรแกรมฯ เขตสุขภาพที่1 เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้ระบบสารสนเทศต่อการใช้งานโปรแกรมฯ เขตสุขภาพที่1 เพื่อศึกษาปัจจัยการดำเนินงานที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการใช้ระบบสารสนเทศโปรแกรมฯเขตสุขภาพที่ 1 และเพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคการใช้งานระบบสารสนเทศโปรแกรมฯเขตสุขภาพที่ 1 วิธีการศึกษาโดยเก็บข้อมูลภาคสนาม (Field Survey) ดำเนินการเก็บข้อมูล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ดูแลควบคุมโปรแกรมฯ (Admin) จำนวน 5 คน ซึ่งสุ่มตัวอย่างจาก Admin ในระดับสำนักส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ กรมอนามัย ระดับเขตสุขภาพที่ 1 คือศูนย์อนามัยที่ 1 และ Project Manager ประจำจังหวัดภาคเหนือตอนบน จำนวน 11 คน โดยแบบสัมภาษณ์แบบมีโครง ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ใช้งานโปรแกรมฯ (User) จำนวน 312 คน ซึ่งสุ่มตัวอย่างจาก care manger จำนวน 915 คน โดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเชิงพรรณนาประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการจำแนกหรือการจัดกลุ่มข้อมูล วัดผลและตัดสินการประเมินโดยใช้ Scoring Rubrics แบบองค์รวม (holistic scoring rubric) ผลการศึกษาพบว่า เป็นโปรแกรมที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ระดับ “ดี”

ตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพ ประเมินแบบองค์รวม (holistic scoring rubric) คือ ผู้ใช้ (USER) โปรแกรมระบบสารสนเทศโปรแกรมดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) มีความเข้าใจในภาพรวมระดับปานกลาง ผู้ใช้มีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง พบปัจจัยการดำเนินงานที่ส่งผลต่อความสำเร็จอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ปัจจัยความพร้อมด้านระบบเครือข่าย ด้านอุปกรณ์ ด้านเครื่องมือและเครื่องใช้ ด้านฐานข้อมูลของโปรแกรม และด้านบุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากผู้ใช้พบปัญหาการใช้งาน ส่งต่อปัญหาแก้ไขให้เสร็จสิ้น โดยADMIN ระดับเขตสุขภาพ ผู้ควบคุมระบบ ADMIN ทุกระดับมีความเข้าใจในการใช้โปรแกรมและบทบาทหน้าที่ เมื่อพบปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยการส่งต่อ ADMIN ระดับเขตสุขภาพ โดยพบปัญหาอุปสรรค คือการเข้าถึงโปรแกรมได้ยาก เครือข่ายinternet บางแห่งไม่สนับสนุนการทำงานของโปรแกรม ข้อมูลในโปรแกรมสูญหาย ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้โปรแกรม จากการสัมภาษณ์ Admin พบว่าปัญหาด้านฐานข้อมูลยังไม่สามารถประมวลผลตอบสนองความต้องการของ Admin ได้และข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน โดย Admin ในระดับจังหวัดมีรูปแบบการส่งต่อการแก้ไขปัญหาให้ Admin ระดับเขต กรมอนามัย และProgrammer ตามลำดับ ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขล่าช้าไม่ทัน โดยมีข้อเสนอแนะในระดับองค์กรคือ ควรมีการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างทีมงานผู้สร้างโปรแกรมฯ ของกรมอนามัย ทีมงานผู้สร้างโปรแกรมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทีมงานผู้สร้างโปรแกรม THAICOC รวมทั้งมีการปรับปรุงโปรแกรมฯ ตามปัจจัยการดำเนินงานที่ส่งผลต่อความสำเร็จและตอบสนองความต้องการต่อผู้ใช้งานทุกระดับ

References

กรมอนามัย. ศูนย์สื่อสารสาธารณะข่าวประชาสัมพันธ์ส่วนกลาง. 2561. “รับมอบโปรแกรม Long Term Care จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้.” 2561. [Online]. แหล่งที่มา https://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=11812 (1 มีนาคม 2562).
ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. การวิจัยประเมินผล หลักการและกระบวนการ. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม, 2544.
วรรษา เปาอินทร์ Journal of the Thai Medical Informatics Association, 1, 31-36, 2017
สำนักสารนิเทศ. “รมว.สธ.เร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยมุ่งสู่ MOPH 4.0” 2561. [Online]. https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/all/04/118279 (1 มีนาคม 2562).
สาธิดา สกุลรัตนกุลชัย. “การสร้างเครื่องมือและเกณฑ์ประเมินแบบSCORING RUBRICS” 2559 [Online]. แหล่งที่มาhttps://www.spu.ac.th/tlc/files/2016/02/2-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-rubric-scoring.pdf (1 มีนาคม 2562).

เผยแพร่แล้ว

29-06-2020