ผลลัพธ์ของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด งานผู้ป่วยใน โรงพยาบาลด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ขะธิณยา ศรีแก้ว โรงพยาบาลด่านขุนทด

คำสำคัญ:

ผลลัพธ์การดูแล, แนวปฏิบัติการพยาบาล, ภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล และศึกษาผลลัพธ์  ความรู้และการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด  การวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 วิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนดำเนินการ ระยะที่ 2 พัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล และนำไปใช้ ระยะที่ 3 ประเมินผลลัพธ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่เป็นผู้ใช้แนวปฏิบัติ จำนวน 25 คน และเวชระเบียนของผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยสามัญ จำนวน 66 ฉบับ ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย แบบประเมินการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการพยาบาล และแบบประเมินความรู้ของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติอ้างอิง   

ผลการวิจัย  พบว่า หลังการพัฒนา อัตราผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน และอัตราเสียชีวิต ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  ส่วนอัตราผู้ป่วยได้รับการส่งต่อลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้และการปฏิบัติการพยาบาลตามแนวปฏิบัติของพยาบาลเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001, p<0.05 ตามลำดับ) สรุปได้ว่า การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้รับการประเมินและการเฝ้าระวังภาวะวิกฤต เกิดผลลัพธ์การดูแลที่ดีขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-30