ผลของการใช้โปรแกรมการเตรียมความพร้อมระงับความรู้สึกแบบฉีดยาชา เข้าช่องไขสันหลังต่อความรู้และพฤติกรรมการปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ ครรภ์แรกนัดผ่าคลอดที่ โรงพยาบาลหนองคาย

ผู้แต่ง

  • ฐิตารีย์ อิงไธสง แผนกวิสัญญี โรงพยาบาลหนองคาย

คำสำคัญ:

การผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง, การฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง, โปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด, พฤติกรรมการปฏิบัติตัว, ความรู้, Cesarean section, Spinal anesthesia, สื่อวีดิทัศน์

บทคัดย่อ

การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดโดยการให้ข้อมูลและคำแนะนำที่ส่งผลให้ผู้รับเกิดความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้ดี เป็นแรงจูงใจที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการรับรู้ข้อมูลและส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติให้ถูกต้องส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงทักษะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติตนให้ความร่วมมือเพื่อให้ปลอดภัยจากการระงับความรู้สึกได้  การวิจัยเรื่องผลของการใช้โปรแกรมการเตรียมความพร้อมระงับความรู้สึกแบบฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังต่อความรู้และพฤติกรรมการปฏิบัติตนของหญิงตั้งครรภ์ครรภ์แรกนัดผ่าคลอดที่ โรงพยาบาลหนองคาย นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเตรียมความพร้อมก่อนระงับความรู้สึกต่อความรู้และพฤติกรรมการปฏิบัติตัวของหญิงครรภ์แรกนัดผ่าคลอดที่ระงับความรู้สึกแบบฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pre–Post test Quasi– Experimental Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงครรภ์แรก แพทย์นัดผ่าตัดคลอด ที่โรงพยาบาลหนองคาย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 – มิถุนายน 2563 จำนวน 30 คน คำนวณกลุ่มตัวอย่างโดยโปรแกรม G*Power3.1 โปรแกรมการเตรียมความพร้อมนี้พัฒนาขึ้นจาก เอกสาร ตำราทางวิสัญญี ร่วมกับประสบการณ์ เนื้อหาประกอบด้วย procedural information, sensory information, behavioral information, coping skills information ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน จัดทำในรูปแบบสื่อวีดิทัศน์ถ่ายภาพจากเหตุการณ์จริง ประกอบคำบรรยายและแสดงภาพส่วนประกอบ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน (1) แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล (2) แบบวัดความรู้ด้านการให้ยาระงับความรู้สึกทางช่องน้ำไขสันหลัง และ (3) แบบประเมินการปฏิบัติตัว ก่อนและขณะให้ยาระงับความรู้สึก ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ความตรงของเนื้อหาได้ค่า content validity index 0.86 ทดสอบความเที่ยงมีค่าความเชื่อมั่นจากสูตร KR-20 เท่ากับ 0.72 ข้อมูลที่เก็บได้แก่ ข้อมูลทั่วไป การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงวิเคราะห์ Paired t-test ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง อายุเฉลี่ย 28.87±5.12 ปี ระดับการศึกษาปริญญาตรีมากที่สุดร้อยละ 50.0 ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่เคยได้รับข้อมูล ร้อยละ 80.0 และไม่เคยมีประวัติการได้ยาระงับความรู้สึกมาก่อน ร้อยละ 93.33  คะแนนความรู้หลังเข้าร่วมโปรแกรมการเตรียมความพร้อมเพิ่มขึ้นทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 100 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้หลังเข้าโปรแกรมการเตรียมความพร้อม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p <0.001) โดยเพิ่มขึ้นจาก 8.10 ± 1.50 คะแนน เป็น 15.60 ± 0.62 คะแนน พฤติกรรมการปฏิบัติตัวหลังเข้าร่วมโปรแกรมการเตรียมความพร้อม กลุ่มตัวอย่างสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องทุกข้อ  เฉลี่ย ร้อยละ 96.30 ดังนั้น การใช้โปรแกรมการเตรียมความพร้อมระงับความรู้สึกแบบฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังด้วยสื่อวีดิทัศน์นี้ เป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด เพิ่มพูนความรู้ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-31