การพัฒนารูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อส่งเสริมการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โรงพยาบาลโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ผู้แต่ง

  • ภรกต สูฝน

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบการดูแล, หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี, การถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นงานวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจง ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งสิ้น 26 คน และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มารับบริการที่โรงพยาบาลโพนพิสัย
ดำเนินการวิจัยระหว่าง ตุลาคม 2563– มีนาคม 2564 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ให้บริการ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสอบถามความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการและการสนทนากลุ่มที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นโดยผ่านการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.87, 0.85, 0.89 และ0.85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้ paired t-test ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีฝากครรภ์ล่าช้ามากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 45.5 เริ่มยาต้านไวรัสเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ ร้อยละ 40 และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไม่ฝากครรภ์และมาคลอด ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 13.6 ฝากครรภ์ล่าช้าและปกปิดผลเลือดกับสามีและครอบครัว ทำให้ไม่กล้ามาฝาก รับประทานยาต้านไวรัสไม่สม่ำเสมอ หลังการพัฒนา ผู้รับบริการมีคะแนนความคิดเห็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value< 0.001) ระดับคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 4.85 (SD.=0.28) ต่อรูปแบบที่พัฒนาขึ้น ด้านผู้ให้บริการมีคะแนนความรู้ฯ เท่ากับ 16.10 (SD.=1.52) คะแนนความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value< 0.001) ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจเฉลี่ย 4.11 (SD.=0.74)

ผู้วิจัยเห็นว่ารูปแบบการดูแลที่พัฒนาขึ้นนี้มีผลลัพธ์ที่ดีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อส่งเสริมการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีได้จริง จากผลลัพธ์การพัฒนาไม่พบการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจึงควรนำรูปแบบการดูแลไปขยายผลในพื้นที่อื่นเพื่อไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-31