ผลของโปรแกรมการจัดการเบาหวานด้วยตนเองของผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ กรณีศึกษาในโรงพยาบาลคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

ผู้แต่ง

  • มลวิภา กาศสมบูรณ์ -

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลอง ครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการจัดการเบาหวานด้วยตนเอง โดยอาศัยความร่วมมือจากครอบครัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มารับบริการโรงพยาบาลคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 70 คน สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 35 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการจัดการเบาหวานด้วยตนเอง ตามแนวคิดของ Kanfer and Gaelick, 1988(1) ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบจะได้รับบริการตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมการจัดการเบาหวานด้วยตนเอง และแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติ independent t–test และ paired t–test

ผลการวิจัยพบว่า หลังทดลองใช้โปรแกรม 3 เดือนพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร ดีกว่า และน้ำตาลสะสมต่ำกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) แต่พฤติกรรมการดูแลตนเองโดยรวมของทั้งสองกลุ่ม ไม่แตกต่างกัน และยังพบว่า กลุ่มทดลอง มีพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยรวม การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการกับความเครียด ดีกว่าและค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสมต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรม ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบ มีพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร และการจัดการกับความเครียด ดีกว่าก่อนทดลองฯ

ดังนั้น ควรส่งเสริมงานเยี่ยมบ้านเชิงรุกในการติดตามการจัดการเบาหวานด้วยตนเองโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครอบครัวเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

คำสำคัญ: โปรแกรมส่งเสริมการจัดการตนเอง, โรคเบาหวาน, ผู้สูงอายุ

เผยแพร่แล้ว

2022-12-31