วัตถุที่บิดเบี้ยวเส้นตรงในภาพยนตร์ (Distorted Object in Cinema)

Main Article Content

ศาสวัต บุญศรี (Sasawat Broonsri)
อรรณนพ ชินตะวัน (Annope Chintawan)

Abstract

              ตำนานนางนากแห่งทุ่งพระโขนงที่ตายทั้งกลมกลายเป็นผีรอคอยสามีของเธอกลับมาจากการรบได้รับความนิยมและมีการนำมาตีความเป็นภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง หากกล่าวถึงแฟนตาซีในภาพยนตร์ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาก เราอาจนึกถึงสิ่งที่พิสดารเกินความเป็นจริง อาทิ ความดุร้ายของนาก อิทธิฤทธิ์ที่มีมากมาย อันที่จริงแฟนตาซีในภาพยนตร์เกี่ยวกับนากไม่ใช่เพียงแค่การปรากฏของสิ่งที่เหนือธรรมชาติแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับพื้นฐานกว่านั้น การทำงานในระดับพื้นฐานของแฟนตาซีทำให้เห็นว่าแฟนตาซีไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นจริง แต่มันกลับเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ความเป็นจริงมีเสถียรภาพและความชอบธรรมในการดำรงอยู่ภายใต้อุดมการณ์มากขึ้น


               หากตามทัศนะของค็อปเจ็ค (Joan Copjec) ภาพยนตร์มีบทบาทเป็นอาวุธเชิงอุดมการณ์ที่เกิดจากกระบวนการเรียกขานของอุดมการณ์ (Ideological Interpellation) นั่นหมายความว่าภาพยนตร์ทำงานเพื่อให้อัตบุคคล (Subjectivity) ตอบรับและยอมจำนนอยู่ภายใต้อุดมการณ์ของสังคม เหตุเพราะความปรารถนาดั้งเดิมของบุคคลไม่เคยลงรอยกับกฎของสังคมอยู่ก่อนแล้ว บุคคลจึงปรารถนาที่จะละเมิดกฎอยู่ตลอดเวลา   แต่ความปรารถนาดังกล่าวถูกกดทับด้วยกฎของสังคม แรงขับที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นต้องการละเมิดกฎอย่าง อภิอัตตา จึงทำให้พวกเขารู้สึกถึงความไม่สาสมใจในความปรารถนาและมันทำให้พวกเขารู้ว่าความปรารถนาไม่สามารถเป็นจริงได้ภายใต้สภาวะของสังคม อุดมการณ์จึงต้องการแฟนตาซีให้เข้ามาทำงานเพื่อกดทับความปรารถนาที่ไม่สมหวังของอัตบุคคลไว้ เนื่องจากความความสงบเรียบร้อยของสังคมจะดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ตราบเท่าที่อัตบุคคลยังคงดำเนินอยู่บนเส้นทางที่สังคมกำหนด

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ