ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงานของครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนของรัฐ ในกรุงเทพมหานคร (Factors affecting Happiness at Work of Generation Y Teachers in Public Schools in Bangkok)

Main Article Content

พสชนัน นิรมิตรไชยนนท์ (Poschanan Niramitchainont)
อริศรา เล็กสรรเสริญ (Arisara Leksansern)
ปานจิตร์ หลงประดิษฐ์ (Panchit Longpradit)
โสวริทธิ์ธร จันทร์แสงศรี (Sovaritthon Chansaengsee)

Abstract

             การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความสุขในการทำงาน ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านองค์การกับความสุขในการทำงาน และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขในการทำงานของครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนของรัฐในกรุงเทพมหานคร ตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนรัฐในกรุงเทพมหานครที่มีอายุไม่เกิน 36 ปี   จำนวนทั้งสิ้น จำนวน 309 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตามสะดวก  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความสุขในการทำงาน แบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ แบบสอบถามบรรยากาศองค์การ แบบสอบถามการถ่ายทอดทางสังคมขององค์การ วิเคราะห์ข้อมูล์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ คะแนนสูงสุดและต่ำสุด ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สันและการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุ


               ผลการวิจัยพบว่า


  1. ครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนของรัฐในกรุงเทพมหานครมีความสุขในการทำงานอยู่ในระดับมาก (Mean = 3.65) โดยค่าเฉลี่ยสูงที่สุดจำนวน 3 มิติ ได้แก่ สุขภาพกายและสุขภาพจิต (Mean = 4.06) รองลงมา คือ ความสามารถในการจัดการความเครียด การเผชิญปัญหาและการปรับตัว (Mean = 3.93) และการเรียนรู้และการพัฒนา (Mean  = 3.93) ตามลำดับ ส่วนมิติความสุขในการทำงานที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ จิตวิญญาณและความสงบสุขทางใจ(Mean=3.30)

  2. การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ บรรยากาศองค์กรและการถ่ายทอดทางสังคมในที่ทำงาน  มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานของครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนของรัฐในกรุงเทพมหานครอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.001

  3. การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ บรรยากาศองค์การ และการถ่ายทอดทางสังคมขององค์การ สามารถทำนายความสุขในการทำงานของครูเจเนอเรชั่นวายในโรงเรียนของรัฐในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความสุขในการทำงานของครูเจเนอเรชั่นวายได้ร้อยละ 33 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ