การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรม การสื่อสารทางการตลาด และแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ กลุ่มแม่บ้านบ้านบางพลับ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม (The value added by using innovation Marketing communication and Marketing Strategies of Preserve fruit Community Enterprise Bang khonthi District Samutsongkhram Province)

Main Article Content

ฐิติพร สำราญศาสตร์ (Thitiporn Sumransat)
สิริพักตร์ นุ่มเฉย (Siripuk Numchey)
อุทุมพร นาคทอง (Authumporn Nakthong)

Abstract

บทคัดย่อ


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรม การสื่อสารทางการตลาด และแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ กลุ่มแม่บ้านบ้านบางพลับ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยการใช้คำถามแบบปลายเปิด ผลการวิจัยพบว่า วิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติได้นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ คือ การพัฒนาและปรุงปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีลักษณะที่โดดเด่น มีความเป็นเอกลักษณ์ และด้านภาพลักษณ์ คือ การใช้เครื่องอบพลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน และนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารทางการตลาด คือ 1) สื่อโฆษณา ได้แก่ รายการทีวี สื่อออนไลน์ เช่น ยูทูป เพจเฟสบุ๊ค เว็บไซต์ บล็อก และ 2) สื่อประชาสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1. สื่อออฟไลน์ ได้แก่ ป้ายประชาสัมพันธ์ การอบรมและการสาธิต การสื่อสาร ณ จุดซื้อ และการสื่อสารแบบปากต่อปาก 2. สื่อออนไลน์ ได้แก่ ยูทูป เว็บไซต์ เพจเฟสบุ๊ค และรายการทีวี ในปัจจุบัน การนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้ก้าวทันยุค Thailand 4.0 โดยวิสาหกิจชุมชนจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางการตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้คุณค่าด้านภาพลักษณ์ ทำให้เกิดการยอมรับในผลิตภัณฑ์ และมีฐานผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น


นอกจากนี้แนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลไม้แช่อิ่มกลับชาติ กลุ่มแม่บ้านบ้านบางพลับ กลยุทธ์เชิงรุก ควรพัฒนาต่อยอดด้านการส่งออกไปยังต่างประเทศ กำหนดวิสัยทัศน์สู่การเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์แปรรูป และควรขยายฐานผู้บริโภคไปยังกลุ่มพ่อค้าคนกลางในธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูป กลยุทธ์เชิงรับ ควรให้ความรู้กับบุคลากรด้านการศึกษาสภาพภูมิอากาศ ศึกษาความต้องการของผู้บริโภค กลยุทธ์เชิงป้องกัน ควรพัฒนาและปรับปรุงด้านการผลิต มีการนำเงินทุนมาบริหารจัดการด้านการสื่อสารทางการตลาด ควรวิจัยเพื่อศึกษาถึงกลุ่มผู้บริโภคและแก้ปัญหาทำให้คนเกิดการยอมรับ และควรมีการจัดการด้านเงินทุนเพื่อนำไปสู่การส่งออกไปยังต่างประเทศ กลยุทธ์เชิงแก้ไข ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เพียงพอต่อการนำมาใช้ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ความสำคัญกับการทำการสื่อสารทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และควรส่งเสริมการสร้างประสบการณ์ให้บุคลากร

Article Details

Section
Humanities, Social Sciences, and Arts