การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา (The Development Of Thai Learning Activities Model In Moderate Class More Knowledge Activities For Elementary School Students)

Main Article Content

ธนินท์รัฐ กฤษฎิ์ฉันทัชท์ ศิริวิศาลสุวรรณ (Thaninrat Kritchanthat Sirivisalsuwan)
วรรณวีร์ บุญคุ้ม (Wannawee Boonkoum)
รัชฎาพร เกตานนท์ แนวแห่งธรรม (Ratchadaporn Ketanon Neawheangtham)
พิทักษ์ สุพรรโณภาพ (Pitak Supannopaph)

Abstract

              การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพความต้องการของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลพระสมุทรเจดีย์ จำนวน 38 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดสนทนากลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ ประเด็นการสนทนากลุ่ม รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบทดสอบความสามารถทางภาษาไทย แบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทีแบบไม่อิสระ (t–test dependent) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)


 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้


             1) สภาพความต้องการของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรม ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา พบว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและตอบสนองกับการเรียนการสอนใน Thailand Education 4.0 หรือตอบสนองให้เข้ากับทักษะในศตวรรษที่ 21 นั้นผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนเทคนิควิธีการสอน ปรับเปลี่ยนมุมมองและความคิดใหม่ โดยอาจศึกษาจากตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จจากโรงเรียนต่าง ๆ มีการนำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ประกอบในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ฝึกการใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้มากขึ้น    มีการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกกระบวนการคิด การแก้ปัญหา ใช้เทคนิควิธีการสอนที่หลากหลายปรับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามความเหมาะสมของเนื้อหาวิชา มีการจัดเตรียมแผนการจัดการเรียนรู้ สื่อ อุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม มีการวัดและประเมินผลที่หลากหลายตามสภาพจริง การจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ได้นั้นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพราะทักษะกระบวนการคิดจะเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกคิดและปฏิบัติอย่างช้า ๆ ดังนั้นผู้สอนต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างจริงจังเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเตรียมผู้เรียนสู่การใช้ชีวิตจริง


               2) รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า “ITDR” ประกอบด้วย 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 Inspiring: I (ผู้สอนสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน) ขั้นที่ 2 Thinking: T (ผู้สอนกระตุ้นด้วยคำถามให้ผู้เรียนได้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์) ขั้นที่ 3 Doing: D (การลงมือปฏิบัติแบบร่วมมือของผู้เรียน) และขั้นที่ 4 Reflecting: R (ผู้เรียนสะท้อนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้) รูปแบบดังกล่าวผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผ่านการรับรองจากการสนทนากลุ่มแล้ว โดยมีผลการประเมินความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก พบว่า ผลการใช้รูปแบบก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับนักเรียนประถมศึกษา มีความสามารถทางภาษาไทย เรื่อง คำ 7 ชนิด แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลการเรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และผู้เรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด  

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ