การศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดรับนักศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาการจัดการศิลปะการประกอบอาหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Main Article Content

ธีระวัฒน์ จันทึก (Thirawat Chantuk)
ชิษณุพงศ์ ศิริโชตินิศากร (Chisnupong Sirichotnisakon)

Abstract

                การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและจัดทำข้อสรุปผลการพัฒนาร่างหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาการจัดการศิลปะการประกอบอาหาร  คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การพัฒนาหลักสูตรของโอลิวา และเสนอสถานการณ์ที่เหมาะสมของการจัดการการศึกษาในหลักสูตร ที่ได้จากการวิเคราะห์ SWOT แบบถ่วงน้ำหนักตามสภาพจริง รวมถึงการวิจัยเอกสารสำหรับศึกษาจุดเด่นของหลักสูตรด้วยการเปรียบเทียบหลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตลอดจนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาการจัดการศิลปะการประกอบอาหารกลุ่มเป้าหมาย ผลการศึกษาปรากฏว่านักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครึ่งหนึ่งเป็นเพศชาย เรียนสายอาชีพ ส่วนใหญ่มีเกรดเฉลี่ยสะสม 2.50 - 2.99 อาชีพหลักของครอบครัวหรือของบิดา-มารดาส่วนมากเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับบิดา – มารดา รวมถึงเวลาว่างส่วนมากดูภาพยนตร์/ฟังเพลง สำหรับในด้านความต้องการ ด้านความคาดหวัง และด้านความคิดเห็นต่อสิ่งที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเรียนจบสาขาการจัดการศิลปะการประกอบอาหาร โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47, 4.54 และ 4.48 ตามลำดับ


               หากพิจารณาถึงผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้ประกอบการกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัย เกินครึ่งเป็นเพศชาย มีระดับการศึกษาปริญญาตรี สถานะโสด ส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นเจ้าของร้านอาหาร และมีอายุการปฏิบัติงานต่ำกว่า 1 ปี รวมถึงมีรายได้ 25,001 – 30,000 บาท ในขณะที่ความคิดเห็นด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้ประกอบการที่มีต่อคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54 สำหรับด้านความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงาน ด้านความคิดเห็นด้านเชาว์ปัญญา และด้านความคิดเห็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.70, 4.36 และ 4.52 ตามลำดับ และหากพิจารณาถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสายงาน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.44


 


               จากการพิจารณาสถานการณ์ข้อได้เปรียบของหลักสูตร พบว่า มหาวิทยาลัยมีห้องปฏิบัติการอาหารที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์และเครื่องมือ ที่มีคุณภาพสูงสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานทางด้านอุตสาหกรรมอาหารได้ อีกทั้งยังมีรายวิชาที่เน้นการออกแบบอาหารเพื่อเชิดชูความเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร             ซึ่งมีการนำเอกลักษณ์ความเป็นศิลปะมาสอดแทรกในรายวิชาให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีการฝึกงานในต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริง สำหรับผลการเปรียบเทียบหลักสูตรที่ได้พัฒนาขึ้นจากการวิจัยเอกสารนั้น ผลปรากฏว่า มีความโดดเด่นมากกว่าหลักสูตรของสถาบันอื่น คือ หลักสูตรของสาขาการจัดการศิลปะการประกอบอาหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความครอบคลุมในทุกกลุ่มวิชามากกว่า เช่น จริยธรรมและกฎหมายในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ปรัชญาและประวัติศาสตร์อาหาร เป็นต้น ทำให้ผู้เรียนสามารถศึกษาทุกกลุ่มกระบวนวิชาได้อย่างครอบคลุมและสามารถเลือกศึกษาวิชาเลือกได้ตามความสนใจของผู้เรียนเอง


               จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดหลักสูตร ปรากฏว่า มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบรายได้กับรายจ่ายทางคณะวิทยาการจัดการจะได้กำไรตั้งแต่ปีที่ 4 และอัตราผลตอบแทนภายในที่ได้รับ 33% และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value :NPV) ได้เท่ากับ 42,044,327.21 บาท ทั้งนี้ จะต้องเปิดรับนักศึกษาจำนวน 60 คนขึ้นไป และมีคณาจารย์เริ่มแรกจำนวน 5 คน และเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2561 หรือปีที่ 5 อีก 2 คน เพิ่มขึ้นในปีที่ 10 อีก 3 คน และในปีที่ 15 อีก 3 คน รวมคณาจารย์ทั้งสิ้นจำนวน 13 คน นอกจากนี้เพื่อเป็นการพัฒนาคณาจารย์ ดังนั้น คณาจารย์ต้องมีการพัฒนาศักยภาพของตนด้วยการมีตำแหน่งทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ทางคณะวิทยาการจัดการจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามรายได้ที่ได้รับเท่าเดิม ดังนั้นในช่วงนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่คณะวิทยาการจัดการ หรือนำกลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนมาใช้เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการบริหารงาน

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ