การพัฒนาศาลยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย (The Judicial reform for solving corruption problems in Thailand)

Main Article Content

ณัฐนันท์ คุณเงิน (Nattanan Kunngern)
บังอร พลเตชา (Bungon Poltechar)

Abstract

              การศึกษานี้มีจุดประสงค์ ดังนี้ คือ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของศาลยุติธรรม 2. เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในองค์การศาลเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การเป็นศาลที่ดีเลิศ (Court excellence)


               การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ประกอบไปด้วย การวิจัยเอกสาร(Document Research) การจัดกลุ่มสนทนา (Focus groups) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interviews) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการอำนวยความยุติธรรมแก่สาธารณชน จำนวน 15 คน


               ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของศาลยุติธรรมไทย ได้แก่ ความเป็นเอกภาพของความพิพากษา, การพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับอำนาจศาล, ความเชื่อมั่นและความขาดหวังของประชาชนที่มีต่อการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ, ปัญหาด้านบุคลากรและงบประมาณ ได้แก่ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคดี, ระบบการคัดเลือกผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่,งบประมาณ และระบบงานและเทคโนโลยี, การปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมของตุลาการ


               สำหรับแนวทางในการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและองค์กรศาลอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การเป็นศาลที่ดีเลิศ ประกอบไปด้วย 1. หลักการประเมินการปฏิบัติราชการและคุณภาพของบุคลากรด้วยสมรรถนะหลักด้านการบริการที่ดี มีการสั่งสมความเชี่ยวชาญมุ่งผลสัมฤทธิ์และยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต 2. คุณค่าของศาลที่บุคลากรและเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น คือ หลักความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) และหลักธรรมาภิบาล 3. ขอบเขตของภาระงานที่จำเป็น คือ ภาวะผู้นำและการจัดการของผู้บริหารองค์กรเพื่อนำไปสู่ความพึงพอใจ และสนองตอบความต้องการของคู่กรณีพิพาทและสร้างความเชื่อถือมั่นใจจากสาธารณชน


               ข้อเสนอแนะ คือ 1. ผู้บริหารของศาลยุติธรรมควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบและบุคลากรให้มีศักยภาพในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยการกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของศาลยุติธรรม เพื่อให้มีการขับเคลื่อนในการพัฒนาอย่างจริงจัง2. ศาลยุติธรรมควรให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานและสร้างตัวชี้วัดที่เหมาะสมในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งในสมรรถนะหลักคือการพิจารณาพิพากษาคดีทุจริต และภารกิจสนับสนุน 3. ควรมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ  4. ควรมีบทบาทในการพัฒนาองค์กรและบุคลากรโดยการจัดทำแผนพัฒนาหน่วยงานเพื่อให้มีการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ