ศัลยศาสตร์ปริทัศน์
ไส้ติ่งอักเสบบำบัดด้วยยาต้านจุลชีพเป็นมาตรการที่พอรับได้
Abstract
ไส้ติ่งอักเสบบำบัดด้วยยาต้านจุลชีพเป็นมาตรการที่พอรับได้
งานวิจัย APPAC (Appendicitis Acuta) ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบ RCT จากหลายศูนย์แพทย์ในทวีปยุโรปเพื่อเปรียบเทียบการรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบ ด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งออก หรือให้ยาต้านจุลชีพระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2009 ถึงเดือนมิถุนายน 2012 ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยมีผู้ป่วยอายุระหว่าง 18 ถึง 60 ปี เข้าร่วมโครงการ 530 คน ทุกคนจะได้รับการยืนยันด้วยคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ว่าเป็น Uncomplicated Appendicitis ซึ่งคณะผู้วิจัยได้สุ่มแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 273 คน จะได้รับการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก ขณะที่อีกกลุ่ม 257 คน ได้รับยาต้านจุลชีพ ซึ่งผลการวิจัยช่วงสั้นให้การสนับสนุนว่าการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพสามารถทำได้ แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจยิ่งขึ้นคณะผู้วิจัยจึงติดตามผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาต้านจุลชีพต่อไปอีก 5 ปี
โดยสรุปแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็น Uncomplicated Appendicitis หากรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ โดยไม่ผ่าตัดระยะแรกจะมีโอกาสเกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบกำเริบใน 5 ปีได้ 39.1% ซึ่งในมุมมองของศัลยแพทย์ก็คงจะแตกต่างกันไปบ้าง บางท่านก็คงจะอุทานว่าเห็นไม๊! ต้องมาให้ผ่าอยู่ดี แต่ท่านลืมไปว่ามี 60% ที่หายดี โดยไม่ต้องผ่าตัดเลย มาตรการนี้จึงยังเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียวในสถานการณ์บริการสุขภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่โรงพยาบาลชุมชนยังไม่กล้าผ่าตัดไส้ติ่ง โดยเลือกจะส่งต่อไปโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ แล้วไปรอคิวผ่าตัดจนมีอุบัติการณ์ไส้ติ่งแตกสูงถึง 34% และระหว่างที่จะส่งหรือระหว่างที่รอคิวผ่าตัดอยู่นั้น โหมยาต้านจุลชีพให้สักหนึ่งชุดอาจได้ประโยชน์ แม้ว่าต่อมาต้องผ่าตัดอยู่ดีก็ถือว่าเป็น Preoperative Antibiotics ได้