ศัลยศาสตร์ปริทัศน์

ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการฝึกอบรมศัลยแพทย์

Authors

  • Chumsak Pruksapong สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยในพระบรมราชชูปถัมภ์

Keywords:

COVID-19, การฝึกอบรมศัลยแพทย์

Abstract

         ในการประชุมวิชาการประจำปี 2564 ของสมาคมศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (National Surgical Week 2021) นั้น หลังพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 จะมีการแสดงปาฐกถาศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ

         ในวันดังกล่าวรองศาสตราจารย์พลโทนายแพทย์วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยฯ ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐก เพื่อแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการฝึกอบรมทางศัลยศาสตร์”

         อาจารย์วิชัยได้แสดงตัวเลขสถิติของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของทั่วโลกในขณะนั้น กว่า 250 ล้านคน และของประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน จึงมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของโลกอันเนื่องจากอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคสูง ทำให้ทรัพยากรทั่วโลกไม่เพียงพอ ทั้งในส่วนของบุคลากร ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เป็นอาทิ

         เมื่อพิจารณาผลกระทบของโรคติดต่อหน่วยงานทางศัลยกรรมและภาควิชาศัลยศาสตร์ก็ปรากฏว่าบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลต้องผละจากภารกิจประจำไปช่วยงานต้านโควิด เช่นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม,หอผู้ป่วยศัลยกรรม และ ICU ศัลยกรรมต้องแปลงไปรักษาผู้ป่วยโควิด   หอผู้ป่วยและห้องผ่าตัดต้องปิดทำงานชั่วคราว ทำให้สถิติการผ่าตัดลดฮวบ ซึ่งปรากฎการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงถึงแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมและระบบการฝึกอบรม โดยแพทย์เหล่านี้ต้องรับภาระช่วยดูแลระบบบริการตรวจรักษาโควิด เช่น Swab, ARI clinic, ฉีดวัคซีน  และประจำ รพ.สนาม ขณะที่ผู้ป่วยศัลยกรรมทั้งฉุกเฉินและ Elective ลดลง จนมีผลทำให้ระบบการเรียนรู้,การเพิ่มพูนทักษะ,การตัดสินใจ ถดถอยลง เกิดความเครียดจากภารกิจใหม่ที่ไม่ได้เตรียมตัวกันมาก่อน

         อาจารย์วิชัยได้แสดงข้อมูลประจักษ์ถึงผลกระทบของโควิด COVID-19 ต่อแพทย์ประจำบ้าน จากวรสารวิชาการนานาชาติหลายฉบับเช่น JAMA Surg : 2021;156 (8) : 767 – 774 ที่แสดงการต้องระงับการผ่าตัด Elective Surgery จนการผ่าตัดใหญ่โดยรวมลดลง 33.5%

         Journal of Surgical Education ฉบับมีนาคม 2020 แสดงความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียดและวิตกกังวลของแพทย์ประจำบ้านในช่วงที่ COVID-19 ระบาด เนื่องจากเสียโอกาสเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการผ่าตัด และยังเสี่ยงกับการติดเชื้อเสียเอง

         ผลกระทบเชิงระบบที่ตีพิมพ์ใน Tech Caloprocto 25(5) : 505 – 520 ปี 2021 ทบทวนรายงานจากสิบกว่าประเทศ แสดงผลกระทบ 4 ส่วน คือ

  • Operations
  • Redeployment and change to Routines
  • Academic Activities
  • Student Wellbeing

 

จำนวนการผ่าตัดโดยรวมลดลงมีผลทำให้แพทย์ประจำบ้านได้ทำผ่าตัดเองน้อยลง ทั้งการผ่าตัดที่รอได้กับการผ่าตัดที่ฉุกเฉิน แล้วยังกระทบถึงขนาดต้องให้การรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบไม่ต้องผ่าตัด   ร้อยละ 16 ของแพทย์ประจำบ้านไม่ได้ลงมือผ่าตัดเลย ทำให้สิ่งพึงปฏิบัติและเรียนรู้ตามหลักสูตรการฝึกอบรมพลาดเป้าหมายไป  แถมยังต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวกับศัลยกรรม จนไม่มีเวลาออกตรวจ OPD  กิจกรรมทางวิชาการ (Academic Activities) ร้อยละ 86-98 เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์แทน

 แต่ในความทดถอยทั้งหลายก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างคือแพทย์ประจำบ้านจะมีเวลาศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆที่มีอยู่และมีงานวิจัยตีพิมพ์เพิ่มขึ้น

ในการสอบบอร์ดทางศัลยกรรมนั้น รูปแบบได้เปลี่ยนจากการสอบกับคณาจารย์ตัวต่อตัวเป็น Virtual Exams (Zoom with breakout rooms แต่มีผู้สอบห้องละคนเดียว)

อาจารย์วิชัยได้เสนอแนวทางการแก้ไขผลกระทบของ COVID-19 ต่อการฝึกอบรมทางศัลยศาสตร์ ทั้งจากวารสารวิชาการต่างประเทศคือให้

  • ปรับหลักสูตรให้ครอบคลุมหรือชดเชยโอกาสที่เสียไป
  • ประเมินข้อด้อยที่เกิดขึ้นแล้วจัดการฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะกิจ
  • เพิ่มการเรียนทาง Simulations
  • ให้กำลังใจ

ในส่วนของการฝึกอบรมศัลยศาสตร์ในประเทศไทยนั้นอาจารย์วิชัยเสนอว่า

  • คณะกรรมการฝึกอบรมและสอบของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภาทำการปรับหลักสูตร เช่นการกำหนด Minimum Requirement, ปรับวิธีประเมินที่เหมาะสม
  • สถาบันฝึกอบรมและผู้อำนวยการฝึกอบรม (Program Director) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรมเช่น
  • Online Teaching/Conference
  • Simulation/VDO etc.
  • นโยบายป้องกัน/ปกปักษ์รักษา

 

  • ในส่วนของแพทย์ประจำบ้านคงต้องเพิ่ม Self Awareness
  • ในขณะนี้ศัลยแพทย์อาวุโสและต้นสังกัดต้องรับรู้ข้อจำกัดแล้วปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้เหมาะสม

โดยสรุปแล้วการระบาดของ COVID-19 มีผลทำให้แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมต้องเป็นกังวลกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วลุกลามไปถึงครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด โดยในช่วงเวลาของโรคระบาดดังกล่าวทำให้โอกาสในการเพิ่มทักษะจากการผ่าตัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ความเชี่ยวชาญลดลง แต่ท่ามกลางข้อจำกัดดังกล่าวก็ยังพอมีโอกาสดีๆอยู่บ้าง ที่แพทย์ประจำบ้านจะมีเวลาในการศึกษาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ และอาจใช้เวลาเพิ่มทักษะจาก Simulation Trainer ได้ระหว่างที่รอการคลี่คลายของโรคระบาด

Author Biography

Chumsak Pruksapong, สมาคมศัลยแพทย์ทั่วไปแห่งประเทศไทยในพระบรมราชชูปถัมภ์

 

 

 

 

Pol. Maj. Gen. Chumsak Pruksapong

Downloads

Published

2022-02-07

How to Cite

Pruksapong, C. (2022). ศัลยศาสตร์ปริทัศน์ : ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการฝึกอบรมศัลยแพทย์. Journal of the Association of General Surgeons of Thailand under the Royal of Patronage of HM the King, 6(3), 109–111. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/agstjournal/article/view/256081