ศัลยศาสตร์ปริทัศน์
จะมีสหภาพแรงงานแพทย์ประจำบ้านไทยหรือไม่
Keywords:
แพทย์ประจำบ้าน, สหภาพแรงงาน, ระบบฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านAbstract
ระบบการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งการเป็นแพทย์เฉพาะทางมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน แพทย์ประจำบ้านเหล่านี้ต้องปฏิบัติงานตรวจรักษาและผ่าตัดคนไข้วันละหลายๆชั่วโมงต่อเนื่องกันโดยไม่มีเวลาพัก ค่าตอบแทนที่ได้มาจะรู้สึกกันว่าน้อยเกินไปไม่คุ้มค่าแรงงานที่ทำไป แต่ไม่สามารถควบคุมหรือกำกับดูแลชั่วโมงทำงานได้เลย ผลที่เกิดขึ้นจึงนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า “หมดไฟ” (Burnout) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วย ภาวะนี้องค์กรวิชาชีพหลายองค์กรยอมรับว่าเป็นภัยต่อระบบการดูแลคนไข้ ยกตัวอย่างเช่นสำนักงานนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกา (US Surgeon General), แพทยสมาคมอเมริกัน (AMA) และ National Academe of Medicine จึงเริ่มมีการเจาะลึกลงให้ถึงสาเหตุพื้นฐานของสภาวะหมดไฟเพื่อหาทางบำบัดแก้ไข เพราะมิฉะนั้นจะทำให้แพทย์ประจำบ้านอ่อนเพลียและเหนื่อยหน่ายจนตัดสินใจออกจากการประกอบอาชีพแพทย์จนเกิดปัญหาแรงงานแพทย์ขาดแคลนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโลกเผชิญกับการระบาดของโควิด – 19
ความเหนื่อยยากของระบบฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านที่สหรัฐอเมริกาได้นำไปสู่ความพยายามของแพทย์เหล่านี้ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานจนถึงขึ้นผลงาน (Strikes) ครั้งแรกสุดเกิดที่นครนิวยอร์กเมื่อปี 1975 เมื่อแพทย์ประจำบ้านก่อการสไตรค์ เพื่อขอให้จำกัดชั่วโมงการอยู่เวรข้ามคืนให้เหลือคืนเว้นสอง (Every Third Night) ปีต่อมาก็มีแพทย์ประจำบ้านก่อการสไตรค์ที่ลอสแองเจลิส เคาน์ตี้ ทำให้ทางการต้องจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยที่บริหารโดยแพทย์ประจำบ้าน
ท่ามกลางบรรยากาศการผละงานของแพทย์ประจำบ้านในยุค 1970s นั้น สมาคมโรงเรียนแพทย์อเมริกัน (The Association of American Medical Colleges) ได้ออกโรงร่วมกับคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (National Labor Relation Board) เมื่อปี 1976 โดยมีมติว่าแพทย์ประจำบ้านเป็นนักศึกษาหาใช่ลูกจ้างไม่ จึงไม่ได้สนับสนุนการคุ้มครองกฎหมายแรงงานกลาง จวบจนปี 1999 คณะกรรมการชุดดังกล่าวจึงยอมกลับมติว่าแพทย์ประจำบ้านเป็นลูกจ้างและมีสิทธิ์รวมกลุ่มเพื่อต่อรองได้ แม้กระนั้นก็ตามสมาคมโรงเรียนแพทย์อเมริกันก็ยังตำหนิติเตียนสิ่งที่แพทย์ประจำบ้านทำลงไปว่าจะลดคุณค่าของการเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ได้