ศัลยศาสตร์ปริทัศน์

สิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

Authors

  • Chumsak Pruksapong the Association of General Surgeons of Thailand under the Royal of Patronage of HM the King

Keywords:

สิทธิด้านสุขภาพ, กลุ่มแรงงานข้ามชาติ, ศัลยแพทย์, ศัลยศาสตร์ปริทัศน์

Abstract

โดยวิชาชีพแล้วศัลยแพทย์ส่วนใหญ่คงไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือติดใจสงสัยในชาติกำเนิดของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ เราคงให้การผ่าตัดรักษาด้วยขีดความสามารถสูงสุดที่มีอยู่ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วศัลยแพทย์อาจจประสบปัญหาชาวต่างชาติที่เข้ามาขายแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียที่มีการย้ายถิ่นฐานมากที่สุดราวหนึ่งในสามของประชากรที่ย้ายถิ่นทั่วโลก อนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยมีการไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติเป็นอันดับที่ 17 ของโลก โดยเมื่อปี 2561 มีประชากรย้ายถิ่นมากถึง 4.9 ล้านคน ประกอบด้วยแรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารใบอนุญาตทำงานและไม่มีเอกสารรวม 3.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

            จากการที่โครงสร้างประเทศของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคาดว่าปี พ.ศ.2583 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดคือราวร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งประเทศเป็นผู้สูงวัย และจำนวนประชากรก็จะลดลงเหลือ 65 ล้านคนในปี พ.ศ.2593 และเป็น 47 ล้านคนในปี 2643  แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นแรงงานทดแทนสำคัญสำหรับแรงงานไทยที่ขาดหายไป

            แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างถูกต้องคือมีหนังสือเดินทางและวีซ่า แต่จะขาดเอกสารสำคัญ 2 ฉบับคือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และใบต่างด้าว (สีชมพู) ซึ่งเป็นที่มาของความอัดอั้นตันใจของแรงงานข้ามชาติและผู้ประสงค์จะใช้แรงงานดังกล่าวเนื่องจากขั้นตอนการได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวยากเย็นแสนเข็น เป็นช่องทางให้ต้องเสียเบี้ยใบ้รายทางเรือนหมื่นและต้องเสียเวลานานนับปีกว่าจะได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย

            แล้วยังมีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองมาโดยไม่มีเอกสารใดๆเลย ได้แต่อาศัยมติ ครม.เพื่อเริ่มต้นกระบวนการให้ได้มาซึ่ง Work Permit  และใบต่างด้าว (สีชมพู) ด้วยค่าใช้จ่ายสูงกว่าหนึ่งหมื่นบาท

            เหตุที่สภาพการณ์ดำเนินไปเช่นนั้นก็เพราะมีนายจ้างที่ยินดีจ้างแรงงานเล่านี้ในอัตราค่าจ้างที่ถูกลง และรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมายที่ขาดแคลนผู้ใช้กฎหมายที่สอดส่องเคร่งครัด

            แรงงานข้ามชาติจึงอยู่ในสภาพที่เหมือนแร้งลงแทะกินตามใจชอบ

            ในฐานะที่เป็นมนุษย์จึงเป็นพลโลกที่มีสิทธิ์เข้าถึงและบรรลุผลลัพธ์ทางสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (สิทธิด้านสุขภาพ) จึงเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาสังคมที่จะต้องร่วมกันแก้ไขให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ เพราะแรงงานจำนวนมากมีกำลังซื้อและสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพเท่าๆกับที่คนไทยได้ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่การเข้าถึงเป็นปัญหาเพราะ

  1. หลักประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติถูกจำกัดจากสถานะทางการเมืองแทนที่จะจัดให้ตามระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของแรงงาน
  2. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในกระบวนการขออนุญาตทำงานในประเทศไทยจัดเก็บโดยไม่คำนึงถึงลักษณะงานที่มีรายได้น้อยของแรงงานข้ามชาติ
  3. การจัดสรรงบประมาณสำหรับบริการสุขภาพไม่สอดคล้องกับรายรับจากค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่จัดเก็บแรงงานข้ามชาติ

 

แนวทางที่จะให้บรรลุสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติคือต้องมีระบบสุขภาพที่มีเป้าหมาย

  1. สร้างความมั่นคงทางสุขภาพด้วยระบบสุขภาพที่คุ้มครองประชากรทุกกลุ่ม
  2. ระดับสิทธิการรับบริการสุขภาพขึ้นกับระยะเวลาที่พำนักในประเทศนั้นและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเมือง

อันที่จริงประเทศไทยได้แสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ชาวต่างชาติทุกหมู่เหล่าตลอดระยะเวลา 3 ปีของวิกฤตโควิด – 19 ที่ผ่านมา  โดยจัดหาวัคซีนฉีดให้ทุกคนและจัดยาให้การรักษาผู้ติดเชื้อ ความเอื้ออาทรนี้ควรจะขยายไปในหมู่แรงงานข้ามชาติที่รับใช้สังคมไทยอยู่ทุกวันนี้ ชดเชยแรงงานไทยที่ขาดหายไป ส่วนกลุ่มวิชาชีพศัลยแพทย์คงให้บริการโดยไม่เลือกปฏิบัติและหากมีโอกาสก็ได้โปรดเข้าร่วมคลี่คลายให้ระบบการเข้าสู่ตลาดแรงงานไทยดำเนินไปโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติด้วย

 

Author Biography

Chumsak Pruksapong, the Association of General Surgeons of Thailand under the Royal of Patronage of HM the King

 

 

Downloads

Published

2022-12-30

How to Cite

Pruksapong, C. (2022). ศัลยศาสตร์ปริทัศน์: สิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ. Journal of the Association of General Surgeons of Thailand under the Royal of Patronage of HM the King, 7(3), iii-iv. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/agstjournal/article/view/260683