แพทย์ควรจะเกษียณอายุเมื่อไรดี
แพทย์ควรจะเกษียณอายุเมื่อไรดี
Keywords:
แพทย์เกษียณอายุ, วิชาชีพที่มีอายุยืนAbstract
อันที่จริงแล้ววิชาชีพแพทย์โชคดีกว่าวิชาชีพอื่นๆ ตรงที่ไม่มีใครมากำหนดว่าจะให้ตรวจรักษาคนไข้จนอายุเท่าไรดี ไม่เหมือนบางอาชีพอย่างนักบินซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตนั้น มาตรฐานสากลกำหนดให้เกษียณอายุ 60 ปี ถ้าเป็นนักบินเดี่ยวและขยายเป็น 65 ปี ถ้ามีนักบินผู้ช่วยทำงานเคียงข้างกัน
Monica Tarantino เขียนเล่าไว้ในเว็บไซต์ medscape.com เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ว่าที่ประเทศบราซิลนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุสำหรับแพทย์และนักบิน แต่มีข้อยกเว้นอยู่เหมือนกันว่า ถ้าแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐก็จะต้องเกษียณอายุที่ 70 ปี แต่ก็ยังสามารถทำงานบริหารและวิจัยต่อไปได้ ศาสตราจารย์ที่ยังทำคุณประโยชน์เช่นนี้ จะได้ตำแหน่ง Professor Emeritus
มีตัวอย่างแพทย์ที่ได้ทำงานในวัยเกิน 80 หลายรายที่บราซิล อย่างที่สถาบันหัวใจคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซาเปาโล เช่น นายแพทย์Noedir Stolf หมอผ่าตัดหัวใจวัย 82 ปีซึ่งยังคงผ่าตัดเกือบทุกวัน อีกทั้งทำงานวิจัยด้านผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ, Mechanical Life Support and Aortic Surgery ขณะที่ นายแพทย์ Protásio Lemos da Luz ก็เป็นหทัยแพทย์ที่ยังทำวิจัยมากมาย และมีผลงานชิ้นเด่นคือ ผลดีของเหล้าองุ่นในการปกป้อง Atherosclerosis
แพทย์หญิง ANGELITA HABR-GAMA วัย 89 ปีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกทาง Coloproctology ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2022 ได้เป็นหนึ่งในร้อยนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลของโลก ที่เสนอชื่อโดยมหาวิทยาลัยสแตนดิเอโก้ และตีพิมพ์ใน PLOS Biology แพทย์จึงเป็นวิชาชีพที่มีอายุยืนกว่าวิชาชีพใดๆแต่มีข้อที่น่าสังเกตคือในวงการแพทย์นั้นยิ่งแก่ก็ยิ่งมีแพทย์หญิงน้อยลงดังที่ปรากฏในการสำรวจของบราซิลว่าแพทย์อายุ 70 ปีขึ้นไปมีแพทย์หญิงเพียง 2 ใน 10 คนเท่านั้น
ผลกระทบของอายุต่อวิชาชีพมีไม่เท่ากัน นายแพทย์ Mark Katlic หัวหน้าแผนกศัลยกรรมของ Life Bridge Health System ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีความสนใจในประเด็นอายุของแพทย์และเขียนแสดงความคิดเห็นไว้ในบทความ How Old Is Too Old To Work As A Doctor ? เกี่ยวกับการประเมินทักษะ (Skills) และ สามัตถิยะ (Competency) ที่มีการอภิปรายถกเถียงอย่างมาก หลังจากที่ หมอ Katlic เล่าว่าบริษัท Life Bridge Health System ได้ทำการตรวจคัดกรองแพทย์อาวุโส ซึ่งอายุเป็นประเด็นที่มีการต่อต้านกันมากในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น นายแพทย์ Frank E. Stockdale แพทย์สาขามะเร็งวิทยา วัย 86 ปีคัดค้านการใช้อายุเป็นตัวจำกัดการประกอบวิชาชีพ โดยอธิบายว่าแพทย์ได้ผ่านการประเมิน (Accreditation Process) ตลอดชั่วชีวิตอยู่แล้ว
มีบางรัฐ ที่กลุ่มแพทย์ฟ้องศาลในประเด็นเลือกปฏิบัติ และการสำรวจของ Medscape ในแบบสอบถามที่มีผู้ตอบ 1,641 รายพบว่าร้อยละ 51 คัดค้านการกำหนดกรอบอายุของการตรวจรักษาคนไข้ ร้อยละ 17 เห็นด้วยว่า จะสำรวจทุกสาขาวิชาชีพก็ได้ ขณะที่ร้อยละ 32 บอกว่าควรเลือกบางสาขาที่จะให้มีข้อจำกัด
มีข้อสังเกตเหมือนกันว่าในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์สาขาต่างๆ แพทย์ที่มีอายุสูงมากอาจมีผลประกอบการจำกัดทางสมรรถนะซึ่งแตกต่างกันไป อย่างเช่นจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องมี Visual Acuity ที่สมบูรณ์ แต่ควรมีหูที่ได้ยินเป็นอย่างดี ขณะที่ ตจแพทย์ (Dermatologist) ต้องมีสายตาคมชัด ศัลยแพทย์ต้องยืนผ่าตัดนานๆอาจเป็นข้อจำกัดได้
การประเมินตนเองจนรู้ข้อจำกัดส่วนตนเป็นมาตรการที่ดีมาก แต่ก็มีผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ที่ทำมาตรการดังกล่าวไม่มากนัก บางคนเล่าว่าเขาประเมินตนเองอยู่อย่างสม่ำเสมอโดยถือเป็นจริยธรรมวิชาชีพ หากยังตรวจผู้ป่วยนอกอยู่ และจำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลก็สามารถรับไว้ให้เพื่อนแพทย์ที่ยังสะดวกจะไปเยี่ยมไข้ได้ดีกว่าตัวเรา การส่งตัวผู้ป่วยไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นสิ่งที่เหมาะสม พร้อมทั้งยกค่าธรรมเนียมให้
มาตรการที่พึงประสงค์แต่ก็ยังไม่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย อย่างเช่นแพทย์แจ้งข้อมูลข้อจำกัดทางทักษะและ Cognitive หรือ Motor Decline ของเพื่อนแพทย์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลรับทราบ เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม การแจ้งข้อจำกัดของตนเองต่อสถาบันก็ยิ่งทำน้อยลงใหญ่
ข้อเสนอที่พูดกันมานานแล้ว และมีหลายองค์กรแพทย์เริ่มทำแล้ว คือการต่ออายุวุฒิบัตร (Recertification) ทุก 5 ปี
เมื่อปี 2021 แพทยสมาคมอเมริกันเผยแพร่รายงานแนวทางการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินแพทย์ ที่ได้จากงานวิจัยตั้งแต่ปี 2015 โดยอาศัยข้อมูลต่างๆอย่างกว้างขวาง
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซาดิเอโก มีความคิดริเริ่มและใช้สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ใหม่และการประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า PACE (Physician Assessment and Clinical Education Program) ตั้งแต่ปี 1995 โดยมีวัตถุประสงค์จะช่วยแพทย์อาวุโส 70 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองว่าจะมีปัจจัยอะไรที่มีผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพหรือไม่
บ้านเราเองก็มีผู้สูงอายุกว่า 80 ปีขึ้นไปที่ยังประกอบวิชาชีพอยู่ ผลประกอบการที่ผ่านมามีผลกระทบต่อคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของการตรวจรักษาหรือไม่ ดูเหมือนจะยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปอะไรได้