Euthanasia

Authors

  • Chumsak Pruksapong -

Keywords:

Euthanasia

Abstract

เมื่อนึกถึงประเด็น Euthanasia  แล้วผมคิดว่าศัลยแพทย์คงเป็นสาขาหลังสุดที่จะมีคนไข้หรือญาติมาขอให้ช่วยจบชีวิตให้   ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะฉุกเฉินที่คนไข้หรือญาติมาวิงวอนขอให้ทำทุกวิถีทางให้คนไข้รอดจากการเจ็บป่วยในครั้งนั้น

            แต่หมอ Marcos Hourmann ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ฉุกเฉินที่จบการฝึกอบรมจากประเทศอาร์เจนตินาแล้วไปประกอบวิชาชีพอยู่ที่โรงพยาบาลในเมือง Tarragona ประเทศสเปนได้ตัดสินใจทำ Euthanasia ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปอย่างหวนคืนไม่ได้

            คืนวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.2005 ขณะที่หมอมาร์คอสอยู่เวรดูแลผู้ป่วย รวมถึงหญิงวัน 82 ปี ชื่อ Carmen Cortiella  ซึ่งล้มป่วยด้วยสารพัดโรค ตั้งแต่หัวใจล้มเหลว มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเป็นมากแล้ว,ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร,เบาหวาน และอีกหลายๆโรคประจำตัว เธอจึงเป็นผู้ป่วยที่การแพทย์ไม่สามารถจะช่วยให้ฟื้นคืนสภาพได้ มาตรการประคับประคองที่แพทย์ให้อยู่ก็เป็นเพียงเพื่อยืดชีวิตไปอีกไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน บุตรสาวของคาร์เมนร้องไห้วิงวอนให้หมอมาร์คอสทำอะไรก็ได้ให้แม่ของเธอหมดความทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นอยู่ คาร์เมนเองตอนยังมีสภาพร่างกายดีกว่านี้ก็เคยขอร้องให้หมอมาร์คอสอย่าปล่อยให้ลูกสาวของเธอต้องทนทุกข์ทรมานไปกับแม่ด้วย

            คืนนั้นหมอมาร์คอสตัดสินใจหยิบไซริงค์ดูดสารน้ำที่มี Potassium Chloride 50 มิลิกรัม ฉีดเข้าเส้นเลือดของคาร์เมน แล้วเขียนบันทึกไว้ในเวชระเบียนถึงสิ่งที่เขาทำลงไป  จากนั้นก็ไปนอนพัก เขาเล่าถึงความรู้สึกในเวลาต่อมาว่า ผมช่วยให้เธอจบชีวิตลงเพราะเธอไม่อาจทนทรมานมากไปกว่านั้นแล้ว

            ชีวิตของหมอมาร์คอสเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อโรงพยาบาลที่เขาประจำอยู่ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ถึงสิ่งที่หมอมาร์คอสทำลงไปเนื่องจากมาตรการการุณยฆาตยังไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศสเปน ผลการดำเนินคดีและการต่อรองกับอัยการจบลงเมื่อเดือนมีนาคม 2009 ให้จำคุกหมอมาร์คอสเป็นเวลา 1 ปี แม้ว่าทางญาติผู้ป่วยจะไม่เอาความก็ตาม ระหว่างนั้นหมอมาร์คอสหลบไปประกอบวิชาชีพที่ Wales ในสหราชอาณาจักร โดยปิดบังประวัติการทำงานของตนเอง แต่หนังสือพิมพ์ The Sun ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของอังกฤษก็จับได้และตราหน้าเขาว่า “Doctor Death” จนทางการต้องยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพและเนรเทศเจ้าตัวออกจากประเทศไป

            จากประสบการณ์อันเจ็บปวดของหมอมาร์คอสทำให้เขาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยรวบรวมรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการที่ตามมารวมทั้งประวัติครอบครัวแล้วพัฒนาขึ้นเป็นละครอิงสารคดี (Documentary Play) แสดงให้ประชาชนประเทศสเปนดู 168 รอบ ด้วยเวลารอบละ 50 นาที ในช่วงเวลา 4 ปี และจะมีภาคภาษาอังกฤษแสดงที่มอลต้าในปี 2023 ที่ผ่านมาโดยเขาเป็นผู้นำแสดงเองและยืนยันจะแสดงต่อไปนานเท่าที่เขาทำได้

            หมอมาร์คอสให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน Medscape  ฉบับภาษาสเปนว่าเขาไม่เคยคิดจะเป็น Euthanasia Activist และกลับจะเป็น Life Activist มากกว่า สิ่งที่เขาทำลงไปถือเป็น “Human Action” ในเมื่อบริการการแพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้อีกต่อไป จึงถึงเวลาที่ต้องจบความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นหรือตามที่คนไข้เรียกร้อง เขาเล่าว่าในชีวิตประจำวันของคนเรานั้นความทุกข์ทรมานของมนุษย์มีขีดจำกัด การปล่อยให้ทรมานอย่างไม่จำเป็น ไม่เป็นการสมควร คุณไม่ต้องเป็นหมอหรอกก็จะเข้าใจประเด็นนี้ได้

            Euthanasia  เป็นที่ยอมรับในรูปแบบที่อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียดในประเทศเนเธอร์แลนด์,เบลเยี่ยม,ลักเซ็มเบิร์ก,สเปน (ตั้งแต่มิถุนายน 2021) แคนาดา โคลอมเบีย และนิวชีแลนด์ ส่วนที่อาร์เจนตินา กำลังพิจารณาอยู่ในรัฐสภา

            หลังการแสดงแต่ละรอบนั้นหมอมาร์คอสจะเปิดอภิปรายซักถาม และสุ่มเลือกผู้ชม 6 คน ช่วยตัดสินว่าสิ่งที่เขาทำลงไปเมื่อคืนวันที่ 28 มีนาคม 2005 นั้นถูกหรือผิด รอบหนึ่งที่แสดง ณ กรุงบัวโนส ไอเรส เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2022 ซึ่งมีหมออยู่ด้วย 2 คนนั้น มติ 4 ต่อ 1 ว่าเขาไม่ผิด โดยมีผู้งดออกเสียง 1 ราย หมอมาร์คอสเล่าว่ารอบอื่นๆก็ออกมาคล้ายๆกัน

            ผมเป็นแพทย์อาวุโสคนหนึ่งที่ยอมรับ Euthanasia โดยเฉพาะกับตนเองและชื่นชมกระบวนการวิธีที่เขาทำกันที่สวิสเซอร์แลนด์แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ผมคิดว่า Euthanasia เป็นกระบวนวิธีจบชีวิตของคนไข้ที่ไม่สามารถจะพึ่งพามาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยและญาติเรียกร้อง

 

Author Biography

Chumsak Pruksapong, -

 

 

Downloads

Published

2024-02-26

How to Cite

Pruksapong, C. . (2024). Euthanasia. Journal of the Association of General Surgeons of Thailand under the Royal of Patronage of HM the King, 8(3), vii-viii. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/agstjournal/article/view/267956