Publication Ethics

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์
1. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน รวมถึงไม่นำต้นฉบับที่อยู่ระหว่างกระบวนการประเมินของวารสารไปส่งวารสารอื่น
2. ผู้นิพนธ์ต้องได้รับความเห็นชอบในการส่งบทความจากผู้ร่วมนิพนธ์ (ถ้ามี) โดยผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกท่านต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง
3. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
4. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานและข้อความของผู้อื่น โดยหากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความของตนเองต้องแสดงแหล่งอ้างอิงอย่างชัดเจน
5. ผู้นิพนธ์ต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการเขียนบทความวิจัยที่วารสารได้กำหนดขึ้น
6. ผู้นิพนธ์ต้องแจ้งบรรณาธิการให้ทราบโดยทันที หากพบความผิดพลาดในงานวิจัย
7. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี)

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร
1. บรรณาธิการต้องกำกับให้การดำเนินงานของวารสาร เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารวิชาการไทย (TCI) กำหนด ตลอดจนคำนึงถึงหลักจริยธรรม/จรรยาบรรณสากลในการตีพิมพ์บทความ บรรณาธิการต้องกลั่นกรองคุณภาพของบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับขอบเขต นโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
2. บรรณาธิการจัดให้มีกระบวนการพิจารณาประเมินบทความจากผู้ประเมินบทความที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญต่อบทความนั้น ๆ อย่างเคร่งครัดเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร
3. บรรณาธิการไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมิน
4. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน (duplications/plagiarism) อย่างจริงจัง หากตรวจพบต้องหยุดกระบวนการประเมิน และขอคำชี้แจงจากผู้นิพนธ์ทันทีเพื่อประกอบการพิจารณา “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
5. บรรณาธิการต้องมีช่องทางให้อุทธรณ์ได้ หากผู้นิพนธ์มีความคิดเห็นแตกต่างจากการตัดสินใจของบรรณาธิการ รวมถึงให้ข้อชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (peer review)
6. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ โดยจะต้องหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ ก่อน
7. บรรณาธิการต้องมีระบบการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความรวมถึงกองบรรณาธิการ
8. บรรณาธิการต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และคงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ
1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมิน
2. ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงคุณภาพของวารสารเป็นสำคัญ โดยการประเมินต้องเป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้องและปราศจากอคติใด ๆ
3. ผู้ประเมินเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบทความที่ประเมิน โดยต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์บทความและสามารถให้ข้อเสนอแนะได้อย่างอิสระ

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์
งานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสัตว์ ต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์แล้วเท่านั้น