การประเมินความเหมาะสมและผลของนโยบายส่งเสริมการใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรในกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ในโรงพยาบาลพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • วทัญญู ประยูรหงส์ โรงพยาบาลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

คำสำคัญ:

การประเมินความเหมาะสมและผลของนโยบาย, การใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร, กลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเหมาะสมและปริมาณของการใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (URI) และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (AD) ในโรงพยาบาลพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา หลังจากมีนโยบายการใช้ยาฟ้าทะลายโจรทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรค URI และ AD โดยคัดเลือกใบสั่งยาจากข้อมูลเวชระเบียนของผู้ป่วยนอกที่อายุมากกว่า 12 ปี และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น URI หรือ AD อย่างใดอย่างหนึ่งในระยะเวลา 2 ปี ก่อนและหลังการมีนโยบายการใช้ยาฟ้าทะลายโจรทดแทนยาปฏิชีวนะ (ปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ) การประเมินความเหมาะสมของการใช้ยาพิจารณาจากขนาดยา การกลับมารักษาซ้ำภายใน 7 วัน ความปลอดภัย แสดงผลในรูปแบบความถี่และร้อยละ และปริมาณการสั่งใช้ยาฟ้าทะลายโจรวิเคราะห์ด้วยสถิติ Chi-square test ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95

ผลการศึกษา เมื่อพิจารณาด้านขนาดยาร่วมกับการกลับมารักษาซ้ำภายใน 7 วัน พบว่าในกลุ่มโรค URI มีการสั่งจ่ายยาตรงตามที่ระบุในบัญชียาหลักเพียงร้อยละ 1.96 และมีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 7 วัน ทั้งสิ้น 37 ราย (ร้อยละ 6.58) ขณะที่ในกลุ่มโรค AD ผู้ป่วยที่รับยาฟ้าทะลายโจรมีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 7 วัน ทั้งสิ้น 1 ราย (ร้อยละ 11.11) ด้านความปลอดภัยของการสั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจร พบการสั่งยาฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้หรือข้อควรระวัง โดยเฉพาะประเด็นการสั่งคู่กับยาที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรกิริยา 10 ราย (ร้อยละ 1.75) และจากการนำนโยบายการใช้ยาฟ้าทะลายโจรทดแทนยาปฏิชีวนะในโรค URI และ AD พบว่ามีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้นจากก่อนนำนโยบายมาใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001 และ p 0.022 ในกลุ่ม URI และ AD ตามลำดับ) เป็นข้อสังเกตว่ามีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเดี่ยว (ไม่ใช้คู่กับยาปฏิชีวนะ) ในกลุ่มโรค URI ร้อยละ 86.30 และกลุ่มโรค AD ร้อยละ 88.89 ประเด็นพัฒนาคือเรื่อง ขนาดยาในกลุ่มอาการโรค URI ที่มีการสั่งต่ำกว่าแนวทางการรักษาที่กำหนดในบัญชียาสมุนไพรแห่งชาติ และการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามใช้ในเรื่องคู่ยาที่เกิดอันตรกิริยา นำไปสู่การทบทวนการสั่งใช้กับองค์กรแพทย์ การจัดอบรมความรู้การสั่งจ่ายยาสมุนไพร เพื่อแจ้งขนาดและการใช้ให้เป็นปัจจุบันตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทั้งการ แจ้งขนาดยา, การเตือนการเกิดอันตรกิริยาของยา, ฉลากแจ้งเตือนก่อนจ่ายในอนาคต

References

กระทรวงสาธารณสุข. ขอความร่วมมือสั่งใช้ยาพัฒนาจากสมุนไพรเป็นลำดับแรก (first line drug). [ออนไลน์]. (2559). [เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559]. เข้าถึงได้จาก https://www.dtam.moph.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1557:pr0673&catid=8:dtam-news&Itemid=114&lang=th

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2558. กรุงเทพฯ; 2558.

วิษณุ ธรรมลิขิตกุล.คู่มือการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียด้วยยาปฏิชีวนะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล. กรุงเทพฯ; 2558.

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักบริหารการสาธารณสุข. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Service Plan : Rational Drug Use). นนทบุรี; 2559.

Chien CF, et al. Herb-drug interaction of Andrographispaniculata extract and andrographolide on the pharmacokinetics of theophylline in rats. ChemBiol Interact 2010; 184(3) : 458-465.

Ooi JP, Kuroyanagi M, Sulaiman SF, et al. Andrographolide and 14-deoxy-11, 12- didehydroandro-grapholideinhibit cytochrome P450s in HepG2hepatoma cells. Life Sci2011; 88(9-10) : 447-54.

Thamlikitkul V, et al. Efficacy of Andrographis paniculata Nees for pharyngotonsillitis in adults. J Med Assoc Thai 1991; 74(10) : 437-442.

Pekthong D, et al. Effects of Andrographis paniculata extract and andrographolide on hepatic cytochrome P450 mRNA expression and monooxygenase activities after invivo administration to rats and invitro in rat and human hepatocyte cultures. ChemBiol Interact 2009; 179(2- 3): 247 – 255.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-29