วารสารพยาบาลศาสตร์ เป็นวารสารของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ในระบบเปิดซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและมีระบบการประเมินบทความต้นฉบับโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขา วารสารพยาบาลศาสตร์สนับสนุนมาตรฐานทางจริยธรรมตามแนวทางของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ หรือ The Committee on Publication Ethics (COPE, https://publicationethics.org/guidance/Guidelines) โดยมุ่งเน้นให้บรรณาธิการ ผู้เขียน และผู้ประเมินคุณภาพบทความปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ดังนี้

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

     บรรณาธิการต้องรับผิดชอบในการรักษามาตรฐานของการจัดทำวารสาร โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

  1. ดำเนินการจัดทำวารสารให้ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านและผู้เขียน
  2. รับฟังความคิดเห็นของผู้เขียน ผู้อ่าน ผู้ประเมินคุณภาพบทความ และกองบรรณาธิการเพื่อพัฒนาคุณภาพของวารสารอย่างสม่ำเสมอ
  3. ดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร
  4. สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
  5. หลีกเลี่ยงการตัดสินผลการพิจารณาบทความหากมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน บริษัท สถาบัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบทความต้นฉบับ
  6. ปกป้องมาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาจากความต้องการทางธุรกิจ
  7. คงไว้ซึ่งความถูกต้องของผลงานทางวิชาการ
  8. เต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์ การทำให้เกิดความกระจ่าง การถอด-ถอนบทความ และการขออภัย หากจำเป็น
  9. ดำเนินการให้บทความต้นฉบับทั้งหมดผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญในสาขา
  10. ดำเนินการทุกอย่างเพื่อป้องกันการประพฤติผิดจริยธรรมทางวิชาการและการตีพิมพ์เผยแพร่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้แก่นักวิจัยในเรื่องของจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่
  11. จัดทำคำแนะนำแก่ผู้เขียนและผู้ประเมินคุณภาพบทความในทุกประเด็นที่บรรณาธิการคาดหวังว่าควรรับทราบ
  12. เก็บรักษาความลับของผู้เขียนและผู้ประเมินคุณภาพบทความ โดยใช้กระบวนการปิดบังชื่อต่อกันระหว่างผู้เขียนและผู้ประเมินคุณภาพบทความ
  13. ตัดสินให้บทความได้รับการตีพิมพ์ในวารสารภายหลังจากผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญหรือประโยชน์ที่มีต่อวิชาชีพพยาบาล ความใหม่หรือความคิดริเริ่ม ความตรงประเด็น ระเบียบวิธีวิจัยชัดเจนถูกต้อง คุณภาพของการอภิปรายและหลักฐานที่นำมาสนับสนุน

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เขียน

      ผู้เขียนที่ส่งต้นฉบับบทความมายังวารสารพยาบาลศาสตร์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำผู้แต่งและมีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้

  1. ความคิดริเริ่ม – ผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์เผยแพร่กับวารสารพยาบาลศาสตร์ต้องเป็นผลงานจากความคิดริเริ่มของตนเองที่ไม่ได้คัดลอกหรือขโมยผลงานของผู้อื่น และต้องมีรายละเอียดของเนื้อหาและการอ้างอิงถูกต้อง
  2. การอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล – ความคิดและผลงานของผู้อื่นต้องได้รับการอ้างอิงแหล่งที่มาและปรากฎในรายการอ้างอิงด้วย
  3. การเปิดเผยข้อมูล – ต้องเปิดเผยแหล่งสนับสนุนทางการเงินและแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อน
  4. การปกป้องสิทธิของกลุ่มตัวอย่าง – การศึกษาในมนุษย์ต้องเขียนชัดเจนว่ามีการคำนึงถึงการปกป้องสิทธิของกลุ่มตัวอย่างและการเก็บรักษาความลับอย่างไร พร้อมทั้งข้อมูลการรับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากคณะกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้
  5. การได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน – การนำเนื้อหา รูปภาพ ตาราง หรืออื่น ๆ ที่เผยแพร่ในวารสาร หนังสือ ตำรา หรืออื่น ๆ มาใช้ในผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารพยาบาลศาสตร์ ผู้เขียนจะต้องได้รับอนุญาตจากวารสาร สำนักพิมพ์ หรือเจ้าของผลงานในการนำมาใช้ก่อน พร้อมทั้งส่งหลักฐานเอกสารการได้รับอนุญาตมายังวารสารพยาบาลศาสตร์ด้วย
  6. การส่งบทความต้นฉบับซ้ำซ้อน – ผู้เขียนต้องไม่ส่งบทความต้นฉบับเดียวกันไปยังวารสารอื่น ๆ ในขณะที่ส่งมายังวารสารพยาบาลศาสตร์
  7. การประพฤติผิดจริยธรรม – ผู้เขียนต้องระมัดระวังเรื่องของการคัดลอกผลงานผู้อื่นและการกระทำผิดจริยธรรมการวิจัยอื่น ๆ
  8. ความเป็นเจ้าของผลงาน – ผู้เขียนต้องใส่รายชื่อผู้มีส่วนสำคัญในผลงานให้ครบ และควรหลีกเลี่ยงเรื่องชื่อรับเชิญ (ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการมีชื่อในผลงานแต่ปรากฎชื่อในผลงาน)

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประเมินคุณภาพบทความ

     ผู้ประเมินคุณภาพบทความต้องรับผิดชอบในการรักษามาตรฐานของการประเมินคุณภาพบทความ โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

  1. รักษาความลับของกระบวนการประเมินบทความ โดยไม่เปิดเผยหรือพูดคุยกับบุคคลที่สามถึงข้อมูลในบทความที่ตนเองกำลังประเมิน
  2. ประเมินบทความอย่างไม่มีอคติ แต่ให้ข้อมูลย้อนกลับตามหลักวิชาการ
  3. ประเมินบทความภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยให้ข้อเสนอแนะหรือวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช้ข้อคิดเห็นหรือคำวิจารณ์ส่วนตัว
  4. แจ้งบรรณาธิการเมื่อพบว่าบทความที่ได้รับมอบหมายให้ประเมินไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญของตนเอง
  5. แจ้งบรรณาธิการเมื่อพบประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับการประพฤติผิดจริยธรรมในบทความที่ตนเองกำลังประเมิน เช่น การคัดลอกผลงานผู้อื่น การปลอมแปลงหรือตกแต่งข้อมูล การส่งต้นฉบับหลายที่ และการอ้างอิงเท็จ
  6. แจ้งบรรณาธิการทันทีหากตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการประเมินบทความที่ได้รับมอบหมาย และควรปฏิเสธการทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินคุณภาพ
  7. ห้ามใช้ข้อมูลหรือส่วนใด ๆ ของบทความที่ตนเองกำลังประเมินในงานของตนเองหรืองานวิชาการอื่น ๆ หากไม่ได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เขียนโดยผ่านการขออนุญาตกับบรรณาธิการ
  8. ตัดสินให้บทความสมควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร โดยพิจารณาจากความสำคัญหรือประโยชน์ที่มีต่อวิชาชีพพยาบาล ความใหม่หรือความคิดริเริ่ม ความตรงประเด็น ระเบียบวิธีวิจัยชัดเจนถูกต้อง คุณภาพของการอภิปรายและหลักฐานที่นำมาสนับสนุน