นวัตกรรมบริการสุขภาพ: การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน (Home ward)

Authors

  • นันทา ชัยพิชิตพันธ์ Princess Mother National Institute on Drug Abuse Treatment (PMNIDAT)

Abstract

ยาและสารเสพติดก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อบุคคล ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติ จากการรายงานปัญหายาเสพติดโลก พบว่าในปี ค.ศ. 2023 มีประชากร 292 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ใน 10 ปีที่ผ่านมา ยาและสารเสพติดที่นิยมใช้กันทั่วโลกใน 3 อันดับแรก ได้แก่ กัญชา (cannabis) ฝิ่น/อนุพันธ์ของฝิ่น (opioids/ opiated) และแอมเฟตามีน (amphetamine) โดยมีการประมาณการณ์ผู้ที่ใช้กัญชาทั่วโลกมีจำนวน 228 ล้านคน ผู้ที่ใช้ฝิ่น/อนุพันธ์ของฝิ่นมีจำนวน 60 ล้านคน และผู้ที่ใช้แอมเฟตามีน มีจำนวน 30 ล้านคน ทั้งนี้ผู้ใช้ยาและสารเสพติด และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้เสพติด (drug use disorder) มีจำนวน 64 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3 ในห้าปีที่ผ่านมา โดยบุคคลในกลุ่มนี้มีโอกาสเข้ารับการบำบัดรักษาเพียง 1 คนใน 11 คนเท่านั้น1 สำหรับประเทศไทยจากรายงานผลการสำรวจครัวเรือนเพื่อคาดประมาณจำนวนประชากรผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทยปี พ.ศ.2562 รายงานว่า ผู้ที่มีประสบการณ์ “เคยใช้ยาเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง” ซึ่งเป็นผู้ใช้สารเสพติดสะสมมีจำนวนประมาณ 3,749,618 คน หรือคิดเป็น อัตราส่วน 74.56 ต่อ 1,000 ของประชากรอายุ 12 – 65 ปี ทั้งนี้จากรายงานยังพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้ยาและสารเสพติด “30 วันก่อนสัมภาษณ์” มีจำนวนมากถึง 1,318,016 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 26.21 ต่อ 1,000 ประชากร โดยพบผู้ที่ใช้สารเสพติดประเภทยาบ้ามากที่สุด พบอัตราส่วน 31.91 ต่อ 1,000 ประชากร2 จากสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษาในกลุ่มธัญญารักษ์ 6+1 (สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี) ในปีงบประมาณ 2565 – 2567 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นดังนี้ 8,369, 10,798 และ 14,728 ราย ตามลำดับ โดยในปี 2567 มีจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอกคิดเป็นร้อยละ 41.96 และบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยในร้อยละ 58.04 จากการทบทวนสถิติย้อนหลัง 3 ปี (2565 – 2567)3-4 พบว่า ผู้ป่วยเสพติดส่วนใหญ่เมื่อผ่านการบำบัดในระยะบำบัดด้วยยามักไม่ย้ายเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีผู้ป่วยยาเสพติดเพียงร้อยละ 30-38 เท่านั้นที่ยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพภายในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยเสพติดกลุ่มนี้มักให้เหตุผลว่า ตนเองเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องกลับไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ยังไม่พร้อมที่จะเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูฯ เป็นระยะเวลานาน ๆ หรือให้เหตุผลว่า ตนเองไม่มีอาการถอนพิษยาเสพติด แข็งแรงดีแล้วขอกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เป็นต้น สบยช. ในฐานะสถาบันหลักที่มีหน้าที่ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ใช้ยาและสารเสพติดรวมถึงมีบทบาทเชิงวิชาการด้านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย สร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ จึงมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมบริการสุขภาพ: การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน (Home ward) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฯ ได้อย่างเสมอภาค ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ลดจำนวนวันนอนในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่พึงพายาเสพติด

References

World Health Organization. Global status report on alcohol 2024. Department of Mental Health and Substance Abuse. Geneva: World Health Organization; 2024.

คณะโต ม, ไทยกล้า ก, อัษณางค์กรชัย ส, อารียสันติชัย จ, เจริญรัตน์ ศ, ลียติกุล พ, et al. รายงานผลการสำรวจครัวเรือนเพื่อคาดประมาณจำนวนประชากรผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทย ปี พ.ศ.2562. กรุงเทพฯ: บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด; 2019

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี. ข้อมูลสถิติ. [Internet]. [cited 2024 Nov 27]. Available from: http://www.pmnidat.go.th/thai/index.php?option=com_content&task=category& sectionid=2&id=9&Itemid=53.

ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข. คูมือการใชงาน ระบบขอมูลการบำบัดรักษา และฟื้นฟู้ผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.). [Internet] 2017. [cited 2024 Nov 28]. Available from: https://ncmc.moph.go.th/home/upload/web_download/23p2ja06jcis04og8o.pdf

หาญสมบูรณ์ ป, บรรณาธิการ. แนวทางและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน (Home ward). นนทบุรีซ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2022.

Meleis AI. Transitions theory: Middle-range and situation-specific theories in nursing research and practice. New York: Springer Publishing Company; 2010.

อรัญญา ส. รูปแบบการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน (Home ward). ประชุมวิชาการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายระบบบริการยาเสพติด (ด้านการพยาบาล) Go together: ก้าวไปด้วยกันพยาบาลยาเสพติดไทย 2024; 22-24 กุมภาพันธ์ 2024; สงขลา. ปทุมธานี: สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี; 2024.

Downloads

Published

16-12-2024

How to Cite

1.
ชัยพิชิตพันธ์ น. นวัตกรรมบริการสุขภาพ: การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในที่บ้าน (Home ward). J DMS [Internet]. 2024 Dec. 16 [cited 2024 Dec. 22];49(4):5-9. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/JDMS/article/view/272512

Issue

Section

Featured Article