Archives

  • July-September 2024
    Vol. 49 No. 3 (2024)

    วารสารกรมการแพทย์ ฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ที่่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีจัดการระบบขับถ่ายปัสสาวะของผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะพิการจากรอยโรคไขสันหลัง และผลการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน ประสิทธิผลของน้ำผึ้งแช่เย็นร่วมกับน้ำเกลือ บ้วนปากต่อการเกิดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาหรือรังสีรักษา ร่วมกับเคมีบำบัด ปัจจัยเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดกระดูกสะโพก ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ อัตราการรอดชีพของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผลของการใช้แนวทางการดููแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง ต่อผลลัพธ์ของการดููแลผู้ป่วยและความพึงพอใจของผู้ดูแล ผลการติดตามการใช้ยา denosumab รักษาผู้ป่วย โรคกระดูกพรุน และยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจภายในเล่มอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ เป็นเรื่องราวของการส่งเสริมการมีบุตร เพื่อเด็กเกิดคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย กำลังเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดใหม่ที่่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ พ่อแม่ ให้ความสำคัญกับคุณภาพของบุตรแต่ละคนมากกว่าจำนวนบุตร ความเหลื่อมล้ำทางเพศในครอบครัว คนแต่งงานช้าลง ชะลอการมีบุตร การมีบุตรส่งผลต่อหน้าที่การงาน และส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะมีบุตรยาก ด้วยเหตุนี้ กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการมีภารกิจในการพัฒนามาตรฐานและระบบบริการทางการแพทย์ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเหมาะสมในระดับประเทศ ได้พัฒนารูปแบบบริการส่งเสริมการมีบุตรและรักษา ผู้มีบุตรยาก ณ โรงพยาบาลราชวิถี โดยจัดทำ “DMS Preterm Corner” ซึ่งเป็นระบบบริการดููแล หญิงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอดและทารกแรกเกิด เพื่อลดอัตรา การคลอดก่อนกำหนดรวมถึงลดโอกาสเสียชีวิตและทุพพลภาพ เรื่องราวของการพัฒนาต้นแบบคลินิกคุณภาพ เหล่านี้ได้อยู่ในวารสารเล่มนี้เช่นกัน วารสารกรมการแพทย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยครับ

                                                                                                                                                        นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ

                                                                                                                                                                 บรรณาธิการ

  • April-June 2024
    Vol. 49 No. 2 (2024)

    วารสารกรมการแพทย์ ฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบการแทงเข็มฟอกเลือดระหว่างวิธี antegrade และ retrograde cannulation การศึกษาภาวะการรู้คิดในผู้ป่วยเสพติดสารโอปิออยด์ที่มารับการรักษาด้วยเมทาโดน ระยะยาว ความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นของแบบสอบถามภาวะจมูกอุดตัน ผลการพัฒนาการดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินภายหลังได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม และยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจภายในเล่มอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ เป็นเรื่องราวของการผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าในสมองเพื่อหาจุดชักโดยหุ่นยนต์ ซึ่งในปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่นำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดใส่ขั้วไฟฟ้าในสมองเพื่อหาจุดชัก หรือที่เรียกว่า Robotic-assisted SEEG placement เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ข้อมูลจากการประเมินเบื้องต้นไม่สามารถผ่าตัดได้ จึงจำเป็นต้องผ่าตัดโดยการใส่ขั้วไฟฟ้าในกะโหลกศีรษะเพื่อหาจุดกำเนิดชัก การใช้หุ่นยนต์มีความแม่นยำไม่ต่างกับวิธีมาตรฐานและยังช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัดอีกด้วย เรื่องราวและนวัตกรรมใหม่เหล่านี้ได้อยู่ในวารสารเล่มนี้เช่นกัน วารสารกรมการแพทย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการเพื่อพัฒนาให้ประชาชนไทยมีสุขภาพที่ดีต่อไป

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
    บรรณาธิการ

     

  • January-March 2024
    Vol. 49 No. 1 (2024)

    สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ เป็นฉบับแรกของปี 2567 มีเนื้อหาอัดแน่นและเต็มไป ด้วยสาระต่าง ๆ ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอเรื่องราวและความรู้ทางการแพทย์ที่หลากหลายและมีประโยชน์ เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความถูกต้องของการ วินิจฉัยสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการผ่าตัด ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการกรองของไตต่อดัชนีมวล กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายในผู้ป่วยไตเรื้อรัง ผลกระทบ ทางด้านสุขภาพที่มีความสัมพันธ์กับภาวะเครียดจาก การทำงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็ว ผิดปกติในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรในสถาบันโรคทรวงอก รวมถึงการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันและลดความรุนแรง ภาวะภูมิไวเกินในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับยาเคมีบำบัดกลุ่ม Taxane และเรื่องอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกเรื่องล้วนน่าสนใจ และมีประโยชน์สำาหรับผู้อ่าน สำหรับเรื่องเด่นประจำฉบับนี้ คือ กุฏิชีวาภิบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานชีวาภิบาลตามนโยบายของ รัฐบาล และเป็นสถานชีวาภิบาลในองค์กรพระพุทธศาสนาโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นับเป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้นเพื่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่มีภาวะพึ่งพิง พระสงฆ์สูงอายุ ติดกุฏิ ติดวัด และพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายให้ได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสังคม และด้านปัญญา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกเรื่องราวในวารสารเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุข และประชาชน เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • October-December 2023
    Vol. 48 No. 4 (2023)

    สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ เป็นฉบับส่งท้ายปี 2566 มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะปีนี้มีข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการแพทย์ที่โดดเด่นตลอดปีกับเนื้อหาความรู้และวิทยาการทางการแพทย์อันหลากหลาย นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปรียบเทียบระหว่างผลการรักษาด้วยคลื่นกระแทกกับเครื่องอัลตราซาวด์ต่อระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อทราฟีเซียสส่วนบน รวมไปถึงเรื่องประสิทธิผลของหุ่นยนต์เตรียมยาเคมีบำบัดในด้านความถูกต้องแม่นยำและเวลาที่ใช้ในการทำงานสำหรับยาต้านมะเร็งชนิดฉีดในผู้ป่วยโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี รวมถึงบทความเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของการรักษานิ่วในท่อไตโดยการผ่าตัดส่องกล้องแบบวันเดียวกลับ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

    สำหรับฉบับนี้ได้หยิบเรื่องเด่นประจำฉบับ คือ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) ของกรมการแพทย์ อันเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่กรมการแพทย์ได้ด้านบริหารทั้ง 6 หมวด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรมการแพทย์เป็นองค์กรที่มีคุณภาพมาตรฐานทั้งทางด้านการบริหาร บริการและวิชาการอย่างแท้จริง

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกเรื่องราวในวารสารเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุขและประชาชน เพื่อการมีสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

     

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
    บรรณาธิการ

     

  • July-September 2023
    Vol. 48 No. 3 (2023)

    วารสารกรมการแพทย์ ฉบับนี้ ท่านผู้อ่านจะได้พบกับความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยระยะกลาง การเปรียบเทียบผลการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองของกลุ่มผู้ป่วยที่มารับยาที่โรงพยาบาลกับกลุ่มผู้ป่วยที่รับยาทางไปรษณีย์ในช่วงที่มีโรคติดเชื้อโควิด 19 รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาแนวปฏิบัติในการป้องกันท่อหลอดลมคอเลื่อนหลุดและลดการบาดเจ็บของผิวหนังในผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจภายในเล่มอีกเป็นจำนวนมาก
    เรื่องเด่นประจำฉบับ เป็นเรื่องราวของคลินิกสูงอายุคุณภาพเนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริงผู้อ่านจะได้ทราบประสบการณ์การดูแลรักษาผู้สูงอายุแบบสหสาขาวิชาชีพ เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยาของอวัยวะหลายระบบตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ทันต่อสถานการณ์ และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายให้มีความเข้มแข็ง จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ทุพพลภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุลงได้นอกจากบทความสาระความรู้ดี ๆ ทางการแพทย์ที่กล่าวมาแล้วนั้น วารสารกรมการแพทย์ ยังคงมีเรื่องราวของนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านอีกมาก เพราะเราใส่ใจและส่งต่อการให้เพื่อสุขภาพของคนไทยทุกท่านครับ

     

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
    บรรณาธิการ

     

  • April-June 2023
    Vol. 48 No. 2 (2023)

    วารสารกรมการแพทย์ กลับมาพบกับท่านผู้อ่านเหมือนเช่นเคย พร้อมคัดสรรบทความทางวิชาการในด้านการแพทย์หลากหลายประเด็นสำคัญ เช่น การศึกษาการกลายพันธุ์ของยีน RET protooncogene ของชุดครอบครัวคนไทยที่เป็นเนื้องอกมะเร็งของต่อมไร้ท่อหลายตำแหน่งชนิด 2A ที่พบปัจจัยสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวที่ต้องการวางแผนการรักษาในอนาคตอย่างมาก และยังมีเรื่องการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้สารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูงในการรักษาโรคลมชักดื้อยาในเด็กที่ศึกษาความคุ้มค่าของสารสกัดกัญชานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นต้น

    เรื่องเด่นประจำฉบับ ขอแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลราชวิถี ในวาระครบรอบ 72 ปี ในฐานะเป็นองค์กรนำด้านสุขภาพที่สำคัญต่อประเทศชาติ เพื่อเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำระดับนานาชาติ โรงพยาบาลราชวิถีไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านการแพทย์ คงความเป็นเลิศด้านการแพทย์ อาทิ ด้านโสต ศอนาสิก ด้านจอประสาทตา เพื่อเป็นการร่วมแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลราชวิถี วารสารเล่มนี้จึงมีเรื่องราวทางการแพทย์ที่สำคัญของโรงพยาบาลราชวิถีนำเสนอ คือ การดูแลทารกที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างครบวงจร และการคัดกรองเบาหวานเข้าจอตาในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าวารสารกรมการแพทย์จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านในการพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ไม่มากก็น้อยต่อไป แล้วพบกันฉบับหน้าครับ

  • January-March 2023
    Vol. 48 No. 1 (2023)

    วารสารกรมการแพทย์ รวบรวมหลากหลายความรู้ในเรื่องราวของสุขภาพและวิทยาการทางการแพทย์ กลับมาพบกับท่านผู้อ่านเช่นเดิม ฉบับนี้ นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ที่น่าสนใจหลายเรื่องราว โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แม้ยังคงต้องระวัง ไม่ประมาท เพราะโรคติดเชื้อนี้ยังไม่หมดไปก็จริง แต่ความผ่อนคลายก็เริ่มมีมากขึ้น องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดนี้จึงยังจำเป็นที่จะต้องศึกษา โดยเฉพาะเรื่องราวของ Long COVID ที่หลายคนยังคงกังวล และอยากรู้รายละเอียด ซึ่งเรื่องราวนี้อยู่ในวารสารเล่มนี้แล้วเรื่องเด่นประจำฉบับของเราฉบับนี้ เป็นเรื่องของกัญชากับการรักษาโรคพาร์กินสัน กัญชาเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ และบางสายพันธุ์พบสารบางชนิดที่ได้นำมาศึกษาและวิจัยในการรักษาโรคพาร์กินสัน เรื่องราวจะเป็นอย่างไร พบได้ในวารสารเล่มนี้เช่นกันยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับความรู้ทางการแพทย์เป็นจำนวนมากอาทิ คุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภทประเภทเรื้อรังในชุมชน การประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคือการประดิษฐ์หมวกกันรังสีจากเสื้อตะกั่วชำรุด เป็นต้นวารสารกรมการแพทย์จะทำหน้าที่เสนอทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญของวารสารกรมการแพทย์ 

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • October-December 2022
    Vol. 47 No. 4 (2022)

         วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้อัดแน่นไปด้วยความรู้ และวิทยาการทางการแพทย์หลากหลาย กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกครั้งเล่มนี้ให้ความสำคัญทั้งเรื่องของทันตกรรมในหลากหลายข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงโรคมะเร็ง และเรื่องอื่น ๆ อีกมากที่เป็นวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ ๆ

         ปัจจุบัน ประชาชนทั้งคนไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคมะเร็งที่พบมากขึ้น ซึ่งโรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศ ดังนั้น เรื่องเด่นประจำฉบับในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องราวของ มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” ที่นำเสนอเรื่องของการเข้าถึงการรักษา ณ สถานที่ใดก็ได้ที่มีความพร้อม ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว เรื่องราวรายละเอียดที่น่าสนใจนี้ อยู่ในวารสารเล่มนี้แล้ว

              หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกเรื่องราวในวารสารเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ระบบสาธารณสุขและประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดีและการมีชีวิตอย่างมีความสุขของประชาชนคนไทย

     

    นพ. อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

     

  • July-September 2022
    Vol. 47 No. 3 (2022)

             วารสารกรมการแพทย์ ปีที่ 47 ฉบับที่ 3 ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และวิทยาการทางการแพทย์กลับมาพบกับท่านผู้อ่านอีกแล้วเช่นเคย พร้อมเรื่องราวทางการแพทย์ในหลากหลายสาขา เรื่องเด่นประจำฉบับของเราฉบับนี้ เป็นเรื่องราวของโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนไทย นั่นคือโรคฝีดาษวานร ซึ่งพบการติดเชื้อแล้วในประเทศไทย โรคนี้สามารถแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ ได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง การสัมผัสบาดแผล หรือ รอยโรค รวมไปถึงจากการหายใจเอาละอองฝอยเข้าไป ซึ่งการแพร่เชื้อมักจะพบเมื่อมีการสัมผัสใกล้ชิด หรือพักอาศัยร่วมกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ จะเป็นข้อมูลความรู้ในหลายด้าน ทั้งลักษณะของโรค ประวัติการแพร่เชื้อ การวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการรักษาโรคฝีดาษวานร แม้โรคฝีดาษวานรจะน่ากลัว อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ผ่านพ้นโรคโควิด 19 นี้ ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ดูแลตัวเองและคนในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง วารสารกรมการแพทย์ ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขภาพที่ดีปลอดจากโรคภัยทั้งปวง แล้วพบกันฉบับหน้าครับ

    นพ. อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ
               

  • April-June 2022
    Vol. 47 No. 2 (2022)

    แม้ปัจจุบัน สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง หลายมาตรการ ควมคุมต่าง ๆ ได้รับการผ่อนคลาย แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะ ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องระวังป้องกันได้ ดังนั้น ในสถานที่เสี่ยงหรือ ในสถานที่ที่หมู่คนจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ เรายังจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สวมแมสก์ ล้างมือ และรักษาระยะห่าง เพื่อเป็นการไม่ประมาท คนไทยทั้งประเทศผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาด้วยกัน หลายคนเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตประจำวันได้แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า มีคนไทยจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อโควิด-19 และปัจจุบันรักษาหายแล้ว ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นที่กังวล และต้องศึกษาในประเด็น Long COVID ซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 เรื่องเด่นประจำฉบับ ฉบับนี้ จึงนำเสนอเรื่องราวของ “ผล กระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 และ แนวทางการจัดบริการสุขภาพ” เนื่องจากคนที่เคยเป็นโควิด-19 พบความผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากรักษาโควิด-19 หายแล้วได้ การรับรู้และทาความเข้าใจกับเรื่องของ Long COVID จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง คนรอบข้าง และภาพรวมของ ประเทศ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ ยังคงเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว ทางการแพทย์ที่มีคุณค่ายิ่ง ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่มี ส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนทุกคน

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • January-March 2022
    Vol. 47 No. 1 (2022)

    วารสารกรมการแพทย์ กลับมาพบกับท่านผู้อ่านเป็นประจำ พร้อมเรื่องราวหลากหลายในด้านการแพทย์ เพื่อมุ่งประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชน และในวาระอันเป็นมงคลที่กรมการแพทย์ครบรอบ 80 ปีของการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2565 นี้ เรื่องเด่นประจำฉบับ จึงเป็นเรื่องราวของความเป็นมา ของกรมการแพทย์นับแต่วันถือกำเนิดในปี พ .ศ. 2485 จนถึงปัจจุบัน ผู้อ่านจะได้เห็นพัฒนาการตั้งแต่การวางรากฐานด้านสาธารณสุข ถึงงานและขอบข่ายการทำงาน กระทั่งการพัฒนาทางด้านวิชาการ ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศและเป็นองค์กรระดับนานาชาติในที่สุด การ ไล่เลียงประวัติศาสตร์แห่งงานและหน้าที่ กระทั่งปูชนียบุคคลที่ สร้างคุณานุประโยชน์ในอดีต เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ อัน เป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันและ ในอนาคต มิเพียงเท่านั้น ในวารสารฉบับนี้ ยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราว และพัฒนาการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ เป็นการให้ความรู้ เปิดโลกทัศน์ และให้มุมมองทางวิชาการ ทุก ท่านจะได้เห็นถึงความทุ่มเท ความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้อง และ ความก้าวหน้าขององค์ความรู้ใหม่ ๆ นิพนธ์ต้นฉบับทุกเรื่องใน วารสารกรมการแพทย์นี้ ล้วนให้ความรู้ด้านวิชาการที่มีคุณค่ายิ่ง บุคลากรด้านการแพทย์ทุกคนจะมุ่งมั่นทุ่มเทกับงานใน หน้าที่ สมกับการยืนหยัดตั้งมั่นเป็นระยะเวลาถึง 80 ปีของการก่อตั้ง กรมการแพทย์ และหวังให้ประชาชนไทยทุกค นห่าง ไกลจากโรคภัย ไข้เจ็บ รวมถึงโรคระบาดทั้งปวง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อม ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและเข้มแข็งต่อไป

  • Vol. 46 No. 4 (2021)

    วารสารกรมการแพทย์ ฉบับที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ และวิทยาการทางการแพทย์อันหลากหลาย กลับมา พบกับท่านผู้อ่านอีกแล้วครับ ฉบับนี้ นำเสนอเรื่องราว ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปรียบเทียบความ หยาบพื้นผิวระหว่างวัสดุบูรณะฟันเรซินคอมโพสิตชนิด นาโนฟิลด์ และชนิดไมโครไฮบริดภายหลังการแปรงฟัน ซึ่งน่าสนใจยิ่ง และเรื่องราวการพัฒนางานบริบาล เภสัชกรรมผู้ป่วยลมชักรูปแบบใหม่ รวมทั้งการพัฒนา ศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขในการดูแลผู้สูงอายุที่มี ภาวะข้อเข่าเสื่อมในชุมชน เพราะปัจจุบันนี้ เราจะพบ ว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องเผชิญกับโรคข้อเข่าเสื่อม ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก หากอาสาสมัคร ผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจในการดูแล ก็จะลดภาวะ ความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยสูงอายุได้ นอกจากนี้ยังมี เรื่องราวที่น่าสนใจภายในเล่มอีกเป็นจำนวนมาก เรื่องเด่นประจำฉบับ เป็นเรื่องราวของยุทธศาสตร์ สังคมสูงวัยของไทยฯ เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพและ การดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งต่อทุกหน่วย งาน ที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง เรื่องราวอันทรงค่านี้อยู่ใน วารสารเล่มนี้เช่นกัน แม้ว่าประเทศไทยและทั่วโลก ยังคงเผชิญหน้ากับ โรคโควิด-19 โดยเฉพาะพันธุ์โอมิครอนซึ่งแพร่ระบาด อย่างรวดเร็วไปทั่วโลก เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ชีวิต อย่างไม่ประมาท ยังคงต้องป้องกันดูแลตัวเองและคนใน ครอบครัวอย่างจริงจัง โดยการสวมแมส หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพื่อหยุด ยั้งสถานการณ์โรคระบาดนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด วารสาร กรมการแพทย์ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน แล้วพบกันฉบับหน้าครับ

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • July-September 2021
    Vol. 46 No. 3 (2021)

    วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ยังคงอยู่ในช่วงที่มีการระบาด โควิด 19 ที่ต่อเนื่องมา การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยยังมีความ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมตลอดเวลา โรงพยาบาลสนามมีความ สำคัญในกรณีที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง การดูแลผู้พิการที่ติดเชื้อโควิด 19 มีความแตกต่างจาก การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วไป วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ จึงขอเสนอเรื่องเด่นประจำฉบับ คือ “ต้นแบบโรงพยาบาลสนาม โควิด 19 เพื่อคนพิการ” เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลสนามสำหรับ ผู้พิการที่ติดเชื้อโควิด 19 ในการดูแลรักษาให้มีความปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยโควิดที่เป็นคนพิการ มีความจำเป็นที่ต้องใช้องค์ ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ มาสนับสนุนการดูแลรักษา รายละเอียด ท่านผู้อ่านจะพบได้จากภายในวารสารฉบับนี้ วารสารกรมการแพทย์ ยังคงทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราว นวัตกรรม องค์ความรู้ ข่าวสารเรื่องราวสุขภาพ ที่เป็นประโยชน์ ต่อผู้อ่าน และส่งความห่วงใยต่อประชาชนคนไทยอย่างสม่ำเสมอ ขอให้คนไทยทุกคนสุขภาพร่างกายแข็งแรงนะครับ นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • April-June 2021
    Vol. 46 No. 2 (2021)

    สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในปัจจุบัน มีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ทำให้เกิด การกระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากและ กระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งด้านการควบคุมโรค และการเข้าถึงระบบการรักษา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลให้การดูแล รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับตรวจคัดกรอง กลุ่มเสี่ยง การตรวจเชิงรุกซึ่งเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ หากตรวจพบเชื้อ ผู้ติดเชื้อจะได้รับการดูแลเข้ารับการรักษาใน สถานบริการสุขภาพที่กำหนดไว้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจาก รัฐบาลรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน เรื่องเด่นประจำฉบับของวารสารกรมการแพทย์เล่มนี้ เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งได้แยกให้เห็น อย่างละเอียดต่าง ๆ อาทิ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายารักษา ค่าอุปกรณ์ ทางการแพทย์ ค่าอาหารทางเส้นเลือด ค่าตรวจวินิจฉัย เป็นต้น รวมถึงรายละเอียดและคำแนะนำในการลงข้อมูลและการบันทึก รหัสข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อีกด้วย นอกจากเรื่องของโรค โควิด-19 แล้ว วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ยังมีผลงานทางวิชาการ ที่มีประโยชน์อีกเป็นจำนวนมากเหมือนเช่นเคย ขอให้ทุกท่านผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันนะครับ

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • January-March 2021
    Vol. 46 No. 1 (2021)

    โควิด-19 ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องเกาะติดสถานการณ์ กันอย่างใกล้ชิด การระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้มีการกระจาย ไปอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ดังนั้น ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องทำงานหนักอย่าง ต่อเนื่อง โรคโควิด-19 ในรอบนี้ เป็นการระบาดไปทั่วประเทศ และทุกภูมิภาค สถานบริการสุขภาพทุกระดับจึงต้องเตรียมความ พร้อมรับมือกับการระบาด รวมถึงจิตอาสาและอาสาสมัคร สาธารณสุขที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันตามกำลังและความสามารถ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุด วารสารกรมการแพทย์ ฉบับนี้ ขอเสนอเรื่องเด่นประจำ ฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงานของอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่เรารู้จักในชื่อย่อกันอย่าง กว้างขวางว่า อสม. โดยสาระเป็นเรื่องราวการทำงานร่วมกัน ระหว่าง อสม.กับบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ในรอบแรก ที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านภาวะวิกฤตนี้มาได้ และได้รับ การชื่นชมว่าเราประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการ สาธารณสุขมูลฐานของเราที่ดีและเข้มแข็งในระดับชุมชน อัน ประกอบด้วยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นักวิชาการ สาธารณสุข พยาบาลชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน ซึ่งที่กล่าวมานี้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคโควิด-19 เรามาศึกษาเรื่องราวและประสบการณ์การทำงานร่วมกัน อันเป็นที่มาของความสำเร็จ มีรายละเอียดของการทำงานเป็น อย่างไร จึงสามารถป้องกันหมู่บ้านของตนเองไม่ให้โรคโควิด-19 แพร่กระจายเข้าไปในหมู่บ้านของตนเองได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทยโดยรวมได้ด้วยเช่นกัน

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • October - December
    Vol. 45 No. 4 (2020)

    วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ นำเสนอสู่ผู้อ่านในท่ามกลาง การระบาดของ COVID-19 อีกรอบ แม้ว่าการระบาดในครั้งนี้ จะดูว่าเป็นวงกว้างมากกว่าครั้งที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อคนไทย เป็นอย่างมาก แต่ด้วยประสบการณ์ของการผ่านการระบาด ของโรคนี้มาแล้ว ร่วมกับความเชี่ยวชาญของทีมบุคลากรทาง การแพทย์และแผนการนำวัคซีนมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ น่าจะ ทำให้ประชาชนคลายความกังวลลงได้บ้าง และไม่ตื่นตระหนก มากเกินไป เพราะหากทุกคนรู้หลักปฏิบัติ รู้หลักในการดูแลตนเอง และคนรอบข้างอย่างเคร่งครัด เราก็จะผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปได้ เรื่องเด่นประจำฉบับ ฉบับนี้ จึงนำเสนอเรื่องราวของ “ทันตกรรมกับ COVID-19” ของสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจ ทั้งผู้ให้บริการและ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นประเด็นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มิเพียงเท่านั้น เนื้อหาในวารสารฉบับนี้ ยังอัดแน่นไปด้วย ความรู้ วิทยาการและความก้าวหน้าของวงการแพทย์ ที่จะนำเสนอ ต่อท่านผู้อ่านให้ได้รับรู้อย่างเช่นเคย

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • July-September 2020
    Vol. 45 No. 3 (2020)

    เรื่องราวของ โควิด-19 ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ แต่ทว่าในวงการแพทย์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ยังต้องเข้มข้น เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงการศึกษาและพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง รวมถึงการล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ทุกคนควรปฏิบัติเรื่องของสุขภาพกับเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีความสำคัญในด้านการแพทย์วิธีใหม่ในยุคที่มีการระบาด COVID-19 เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ จึงเป็นเรื่องของ “NCI Easy” Application ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้นำการบริการทางการแพทย์ ผ่านแอปพลิเคชันนี้ โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมประยุกต์สำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือแทบเล็ต เพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้าและประชาชน รวมทั้งพนักงานหรือบุคลากรทางการแพทย์ โปรแกรมช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการผู้ป่วย ลดความแออัด และการเสียเวลาในการรอคอย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งวารสารฉบับนี้ ยังประกอบด้วยเรื่องราวองค์ความรู้ทางการแพทย์อีกมาก ไม่ว่าจะเรื่องการรักษานิ่วในไตด้วยวิธีผ่าตัด Percutaneous Nephrolithotomy การศึกษาผลของรากฟันเทียมสองราก (ระบบข้าวอร่อย) เพื่อช่วยยึดฟันเทียมทั้งปากชิ้นล่างชนิดถอดได้ ภาวะการณ์ความเสี่ยงฟันผุในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคเบาหวานโดยใช้โปรแกรม cariogram ฯลฯ วารสารกรมการแพทย์ จะทำหน้าที่ส่งผ่าน และมีส่วนร่วมในการนำเสนองานวิชาการทุกด้านของวงการแพทย์ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่จะได้รับอย่างต่อเนื่องต่อไป

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ บรรณาธิการ

  • April-June
    Vol. 45 No. 2 (2020)

    วารสารกรมการแพทย์ ฉบับที่อยู่ในมือท่านผู้อ่านฉบับนี้ ยังคงนำเสนอเรื่องราวหลากหลายในวงการแพทย์ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความรู้และสาระประโยชน์ ที่จะพัฒนาวงการแพทย์ให้ก้าวหน้า จุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไทยไปอย่างมากมายโดยเฉพาะกับการทำงานและการดำเนินชีวิต คาดว่า social distancing หรือ work from home ฯลฯ เป็นคำที่เราได้ยินกันอย่างมากมาย กระทั่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีเหล่านี้ เพราะนี่เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ขณะเดียวกัน ในแวดวงการแพทย์ก็ได้มีการนำเทคโนโลยี อาทิ การประชุมออนไลน์ โดยใช้โปรแกรม ZOOM Cloud meetings, Cisco WebEx, Google hangouts เข้ามาช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ จึงได้นำเสนอเรื่องราวของ Cloud meeting telemedicine กับบุคลากรทางการแพทย์ในยุคโควิด-19 เพื่อให้เราได้รู้จักกันว่า เทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยในการทำงานของแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 นั้นเป็นอย่างไรมิเพียงเท่านั้น วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ ยังมีนิพนธ์ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง และทุกเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อวงการแพทย์ และต่อสถานการณ์ปัจจุบันของประชาชนกับโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น      

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ                                                                                                                                                     

    บรรณาธิการ

     

  • หน้าปกปีที่ 45 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2563 วารสารกรมการแพทย์

    January-March
    Vol. 45 No. 1 (2020)

    บทบรรณาธิการ
    วารสารกรมกำรแพทย์ ฉบับนี้ (มกราคม-มีนาคม) เป็นฉบับต้อนรับปี 2563 มาพร้อมกับเรื่องราวอันน่ากังวลกับเรื่องของสุขภาพประชาชนชาวไทยและประชาชน ทั่วทั้งโลก นั่นคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนั้น วารสารกรมการแพทย์ของเราฉบับนี้ จึงนำเสนอเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องเด่นประจำ ฉบับ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงยารักษาโควิด-19 ที่อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตามหลักวิชาการทางการแพทย์ที่แนะนำและข่าวสารที่ได้ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยการล้างมือ กินของร้อน และ ใช้ช้อนส่วนตัว รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลและ ไม่เข้าไปบริเวณที่มีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ มิเพียงเท่านั้น วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ยังเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้องรังต่างๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากบทความที่เป็นองค์ความรู้ด้าน โรคแล้ว ยังมีความรู้ที่หลากหลายในเชิงเศรษฐศาสตร์ การรับรู้ ทัศนคติกับสุขภาพ ดังนั้น บทความนี้จึงมีความสำคัญและน่าสนใจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และ บุคคลทั่วไปก็จะได้รับประโยชน์ ความรู้ทางวิชาการ เช่นเดียวกัน แล้วพบกันฉบับหน้า พร้อมเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นเคย

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
    บรรณาธิการ

  • หน้าปกปีที่ 44 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2562 วารสารกรมการแพทย์

    November-December
    Vol. 44 No. 6 (2019)

    บทบรรณาธิการ
    สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เป็นฉบับส่งท้ายปี 2562 มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเช่นเคย โดยเฉพาะในปีนี้มีข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในวงการแพทย์ที่โดดเด่นตลอดทั้งปี นั่นก็คือ ‘การปลดล็อคกัญชา เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์’ โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา สาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ คือ การผ่อนปรนให้นำกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดให้ โทษประเภทที่ 5 มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัย และพัฒนา ซึ่งการสั่งใช้ให้กับผู้ป่วยต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบ วิชาชีพทันตกรรมที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ และได้รับการขึ้น ทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว กัญชาเป็นพืชสมุนไพรมีถิ่นกำเนิดในเอเซีย นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ในประเทศไทยมี ‘ตำราพระโอสถพระนารายณ์’ ซึ่งเป็นตำรับยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2175-2231) มีส่วนผสมของกัญชา ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยารักษาโรคหรือแก้อาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ทานได้น้อย นอนไม่หลับ ฯลฯ ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันนำกัญชามาสกัด พบว่า กัญชามีสารออกฤทธิ์ (bioactive compounds) มากกว่า 400 ชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือ แคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (delta-9 tetrahydrocannabinol : THC) และแคนนาบิไดอัล (cannabidiol : CBD) ออกฤทธิ์ยับยั้ง กระตุ้น ระบบประสาท ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารสกัดจากกัญชา THC และ CBD มีประโยชน์ในการ นำมาใช้ทางการแพทย์ กรมการแพทย์จึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในการรักษา และ/หรือควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการรักษาลำดับแรก (first-line therapy) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน ตำรับ (unapproved products) หากแต่ควรควบรวม หรือใช้เสริมการรักษาจากวิธี มาตรฐานที่ได้รับ ฯลฯ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ จึงหยิบเรื่อง ‘กัญชากับการแพทย์แผน ปัจจุบัน’ มานำเสนอเป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจาก กัญชาในกลุ่มโรค/สภาวะโรคที่มีหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยรองรับ รวมทั้งข้อ แนะนำอื่นๆ ส่วนท่านที่สนใจเนื้อหาฉบับเต็มสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ ‘คำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์’ (Guidance on Cannabis for Medical Use) จัดพิมพ์โดยกรมการแพทย์ หรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กรมการแพทย์  นอกจากนี้วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ยังมีคอลัมน์ ‘นิพนธ์ต้นฉบับ’ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยข้อเขียนทางวิชาการแพทย์จำนวน 17 เรื่อง ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ทั้งสิ้น....ขอเชิญพลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาในเล่มได้เลยครับ

    นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
    บรรณาธิการ

  • September-October
    Vol. 44 No. 5 (2019)

    สวัสดีครับ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ เป็นฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับโรคผิวหนัง ซึ่งเป็นผลงานของโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง โดยมีเรื่องเด่นหลายเรื่อง ได้แก่ Laboratory for Skin ซึ่งมีบทบาทหลักในการให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง เรื่องต่อมาคือ การพัฒนาการเตรียมยา 5% cool tar + 0.05% betamethasone valerate cream เรื่องการศัลยกรรมและเลเซอร์ผิวหนัง ทุกปัญหาผิวหนัง ดูแลด้วยใจ หายได้ด้วยเทคโนโลยี และยังมีเรื่องเด่นที่เกี่ยวกับโรคหัวใจอีก 2 เรื่อง จากสถาบันโรคทรวงอก คือ วิธีใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ในผู้ป่วยโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และแนวทางใหม่ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ฉบับนี้ คอลัมน์ Hall of Fame ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องของ นายแพทย์วรเชษฐ อนันตรังสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ที่ใช้แนวทางบริหารงานที่มุ่งสู่การเป็นโรงพยาบาลผิวหนังระดับชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่าสนใจมาก ขณะเดียวกัน คอลัมน์ Hospital Visit ฉบับนี้ ขอพาท่านไปรู้จักกับผลงานอีกด้านหนึ่งของโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ที่นำเสนอเรื่องการพัฒนาระบบการให้บริการคลินิกสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเป็นอย่างมาก คอลัมน์ Pro & Con? นำเสนอเรื่องเชื่อหรือไม่การอาบแดดในร่ม ก็อาจเป็น มะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งเป็นงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจยิ่งส่วนคอลัมน์ประจำอื่นๆ ก็ยังคงอัดแน่น ครบครันเช่นเคย สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณผู้อ่าน ผู้ติดตาม ผู้ส่งผลงานมาลงตีพิมพ์ทุกท่าน เนื่องจากผมหมดวาระการเป็นบรรณาธิการแล้ว และจะมีบรรณาธิการใหม่มาสานงานต่อ อาจมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเนื้อหาและรูปแบบ ก็ขอให้ติดตามในฉบับต่อไปนะครับสวัสดีครับ

    นพ.อากาศ พัฒนเรืองไล บรรณาธิการ

  • July-August
    Vol. 44 No. 4 (2019)

    สวัสดีครับ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ เป็นฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับโรคกระดูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะเกิดกับผู้สูงวัย และส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง วันนี้เมืองไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว จึงควรดูแลกระดูกของเราให้ดีนะครับฉบับนี้ เราได้มีโอกาสสนทนากับ นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน ที่จะมาเปิดวิสัยทัศน์ 6 ปีในการบริหารโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีการพัฒนาในทุกๆ ด้านอย่างน่าทึ่ง ต่อด้วยเรื่องเด่นผลงานของโรงพยาบาลเลิดสินที่เน้นทางด้านโรคกระดูก ตั้งแต่เรื่องการถอดบทเรียนการประเมินรับรองเฉพาะโรคหรือ DSC ระบบจัดการฐานข้อมูลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภาวะกระดูกพรุน การประเมินผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน และคลินิกป้องกันการหกล้ม น่าสนใจทุกเรื่องขณะเดียวกัน คอลัมน์ Hospital Visit ฉบับนี้ ขอพาท่านไปรู้จักกับ ผลงานอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเป็นรู้จักกันว่าโรงพยาบาลเลิดสินคือหนึ่งในผู้นำของไทยด้านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงมากว่า 20 ปี และกำลังก้าวข้ามความท้าทายไปสู่จุดที่ผ่าตัดใส่มดลูกให้หญิงแปลงเพศสามารถตั้งท้องได้เองด้วย น่าทึ่งจริงๆ ครับ แนะนำผู้อ่านต้องไม่พลาดคอลัมน์ Pro & Con? ที่นำเสนอการค้นพบใหม่เรื่องการสั่งสมองให้สร้างกระดูกใหม่ได้ ถ้าสำเร็จ ก็เป็นข่าวดีของผู้สูงอายุทั่วโลกเลยทีเดียวส่วนคอลัมน์ประจำก็ยังคงอัดแน่น ครบครันเช่นเคย พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีครับ

    นพ.อากาศ พัฒนเรืองไล บรรณาธิการ

  • May-June
    Vol. 44 No. 3 (2019)

    สวัสดีครับ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในการตีพิมพ์ที่ปรับให้รวดเร็วขึ้น โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับโรคผิวหนังโดยเฉพาะฉบับนี้ เราได้มีโอกาสสนทนากับ แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ผ่านคอลัมน์ Hall of Fame ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นต้นแบบของนักบริหารมืออาชีพอย่างแท้จริงแล้ว ท่านยังมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือให้เกิดขึ้นกับสถาบันโรคผิวหนัง อย่างยากที่จะหาในองค์กรภาครัฐเช่นทุกวันนี้ ลองติดตามอ่านบทสัมภาษณ์นี้ดูแล้วท่านจะมีความสุขกับแนวคิด ทิศทาง และวิธีการบริหารคน บริหารงานที่ใช้ความสุขจากการทำงานเป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกัน คอลัมน์ Hospital visit ฉบับนี้ ขอพาท่านไปรู้จักกับ Vein clinic หรือ คลินิกรักษาโรคหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นคลินิกน้องใหม่ของสถาบันโรคผิวหนัง เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทางด้านผิวหนังอย่างรอบด้านให้ท่านได้อ่านอย่างเต็มอิ่ม เช่นเรื่อง Skinomics กับการฟื้นฟูและชะลอวัยของผิวหนัง เป็นต้นส่วนคอลัมน์ประจำก็ยังคงอัดแน่น ครบครันเช่นเคย พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีครับ

    นพ. อากาศ พัฒนเรืองไล บรรณาธิการ

  • March-April
    Vol. 44 No. 2 (2019)

    สวัสดีครับ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ มาพร้อมกับความเข้มข้นของเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้ด้านทันตกรรมที่กรมการแพทย์ภูมิใจนำเสนอ ฉบับนี้ เรามาสนทนากับ ทันตแพทย์หญิงนงวิภา พุฒิภาษ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทันตกรรม ผ่านคอลัมน์ Hall of Fame ซึ่งนอกจากท่านจะเป็น ครูมืออาชีพแล้ว ท่านยังมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างบุคลากรอันมีคุณค่าของกรมการแพทย์ให้สามารถส่งต่อความรู้ทางทันตกรรมไปสู่ผู้รับบริการได้อย่างกว้างขวางที่สุด ด้วยการน้อมนำคำสอนของพระราชบิดามาเป็นเข็มมุ่งในการทำหน้าที่อย่างมีความสุขขณะเดียวกัน เรื่องเด่นประจำฉบับนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทางทันตกรรมอย่างรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องของเครื่องมือส่งเสริมการเคลื่อนฟันชนิดไม่ต้องทำศัลยกรรมสำหรับเครื่องมือจัดฟันถอดได้แบบใส เรื่องของภาวะแทรกซ้อนที่ไม่พึ่งประสงค์ของเนื้อเยื่ออ่อนจากการตัดปุ่มกระดูก และเรื่องโลกดิจิตอลกับทันตกรรม ที่ไม่ใช่แต่ในช่องปากเท่านั้น!!ส่วนคอลัมน์ประจำก็ยังคงอัดแน่น ครบครันเช่นเคย พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีครับ

    นพ.อากาศ พัฒนเรืองไล บรรณาธิการ

  • January-February
    Vol. 44 No. 1 (2019)

    สวัสดีครับ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ มาพร้อมกับความเข้มข้นของเนื้อหาที่อัดแน่นไปด้วยองค์ความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์ที่กำลังโด่งดังและอยู่ในความสนใจของสังคมทุกภาคส่วนฉบับนี้ เรามาสนทนากับ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงคนสำคัญของกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ผ่านคอลัมน์ Hall of Fame ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นนักบริหารมืออาชีพแล้ว ท่านยังมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งดึงศักยภาพของบุคลากรอันมีคุณค่าของกรมการแพทย์ให้ก้าวออกมาร่วมกันปฏิรูปองค์กร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของทุกภาคส่วนอย่างชาญฉลาด โดยยังรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการงานได้อย่างน่าทึ่งขณะเดียวกัน เรื่องเด่นประจำฉบับนี้โฟกัสไปที่การใช้กัญชาทางการแพทย์ อย่างรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องของนโยบายสุขภาพที่เกี่ยวกับการการใช้กัญชาทางการแพทย์โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่ท่านวางแนวทางการพัฒนาในเรื่องนี้ไว้ให้อย่างชัดเจน เรื่องคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแนวทางของกรมการแพทย์โดยตรง ส่วนคอลัมน์ประจำก็ยังคงอัดแน่น ครบครันเช่นเคย พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีครับ

    นพ.อากาศ พัฒนเรืองไล บรรณาธิการ

1-25 of 37