Vol. 44 No. 6 (2019): November-December
บทบรรณาธิการ
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ (พฤศจิกายน-ธันวาคม) เป็นฉบับส่งท้ายปี 2562 มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเช่นเคย โดยเฉพาะในปีนี้มีข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในวงการแพทย์ที่โดดเด่นตลอดทั้งปี นั่นก็คือ ‘การปลดล็อคกัญชา เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์’ โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา สาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ คือ การผ่อนปรนให้นำกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดให้ โทษประเภทที่ 5 มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัย และพัฒนา ซึ่งการสั่งใช้ให้กับผู้ป่วยต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบ วิชาชีพทันตกรรมที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ และได้รับการขึ้น ทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว กัญชาเป็นพืชสมุนไพรมีถิ่นกำเนิดในเอเซีย นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่สมัยโบราณ ในประเทศไทยมี ‘ตำราพระโอสถพระนารายณ์’ ซึ่งเป็นตำรับยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2175-2231) มีส่วนผสมของกัญชา ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยารักษาโรคหรือแก้อาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ทานได้น้อย นอนไม่หลับ ฯลฯ ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบันนำกัญชามาสกัด พบว่า กัญชามีสารออกฤทธิ์ (bioactive compounds) มากกว่า 400 ชนิด แต่ที่พบมากที่สุดคือ แคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ได้แก่ เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ (delta-9 tetrahydrocannabinol : THC) และแคนนาบิไดอัล (cannabidiol : CBD) ออกฤทธิ์ยับยั้ง กระตุ้น ระบบประสาท ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารสกัดจากกัญชา THC และ CBD มีประโยชน์ในการ นำมาใช้ทางการแพทย์ กรมการแพทย์จึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ในการรักษา และ/หรือควบคุมอาการของผู้ป่วยเป็นการรักษาลำดับแรก (first-line therapy) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน ตำรับ (unapproved products) หากแต่ควรควบรวม หรือใช้เสริมการรักษาจากวิธี มาตรฐานที่ได้รับ ฯลฯ วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ จึงหยิบเรื่อง ‘กัญชากับการแพทย์แผน ปัจจุบัน’ มานำเสนอเป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจาก กัญชาในกลุ่มโรค/สภาวะโรคที่มีหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยรองรับ รวมทั้งข้อ แนะนำอื่นๆ ส่วนท่านที่สนใจเนื้อหาฉบับเต็มสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ ‘คำแนะนำ การใช้กัญชาทางการแพทย์’ (Guidance on Cannabis for Medical Use) จัดพิมพ์โดยกรมการแพทย์ หรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์กรมการแพทย์ นอกจากนี้วารสารกรมการแพทย์ฉบับนี้ยังมีคอลัมน์ ‘นิพนธ์ต้นฉบับ’ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยข้อเขียนทางวิชาการแพทย์จำนวน 17 เรื่อง ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ ทั้งสิ้น....ขอเชิญพลิกเข้าไปอ่านเนื้อหาในเล่มได้เลยครับ
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ
บรรณาธิการ